บอร์ดไตรภาคี เคาะขึ้นค่าแรง 400 บ. นำร่อง จ.ภูเก็ต-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง และ อ.สมุย

ข่าวทั่วไป Monday December 23, 2024 19:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 มีมติเอกฉันท์เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 โดยให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 7-55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งพิจารณาจากค่าครองชีพ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมีอัตราสูงสุด คือ วันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุด คือ วันละ 337 บาท ดังนี้

1. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ จ.ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เหตุผลที่มีการปรับใน 4 จังหวัดและ 1 อำเภอก่อนนั้น เพราะจังหวัดภูเก็ตและเกาะสมุย ถือเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งบริการและท่องเที่ยว และมีค่าครองชีพสูงอยู่แล้ว ส่วนฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนของ EEC

2. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 380 บาท ใน อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

3. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราวันละ 372 บาท ในเขตท้องที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 2.5%)

4. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 67 จังหวัดที่เหลือให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มขึ้น 2.0%

โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะทำให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ จำนวน 3,760,697 คน

สำหรับปี 2568 คณะกรรมการค่าจ้างฯ ได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังภูมิภาค โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด รวม 77 คณะ เพื่อนำข้อเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดมาพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มาตรา 87 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง กลุ่มที่ 2 ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง กลุ่มที่ 3 ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยพิจารณาจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ลูกจ้างมีค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน จะเร่งนำเรื่องนี้เสนอให้รมว.แรงงานต่อไป และจะพยายามให้ทันในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรุ่งนี้เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ