นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/2568 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว และรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงาน ครม.เพื่อทราบต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/2567 มาปรับปรุง และจัดทำมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันสถานการณ์จำนวน 8 มาตรการ และจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 ดังนี้
1.มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 จำนวน 3 ด้าน 8 มาตรการ
- ด้านต้นทุน (Supply)
มาตรการที่ 1 คาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 2 สร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรพร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ(ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
- ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand)
มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพราะปลูกพืชฤดูแล้งบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 5 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง)
- ด้านการบริหารจัดการ (Management)
มาตรการที่ 6 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ (ตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 7 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 8 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)
ขณะที่โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดน้อยของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำหรือเสี่ยงภัยแล้งรวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อรองรับฝนทิ้งช่วง ปี 2568 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน นับแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ สำหรับพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งที่ สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด รวมถึงพื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนตามคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร