นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการต่าง ๆ กรณีมีการคาดการณ์ว่าจะมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) สูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า วันนี้เป็นวันที่ค่าฝุ่นสูงอีกวันหนึ่ง แต่พรุ่งนี้การระบายก็จะดีขึ้น คาดว่าอัตราการระบายอากาศ (VR) จะดีขึ้นยาวไปประมาณ 3-4 วัน
ทั้งนี้ กทม.จะปรับปรุงเกณฑ์เรื่อง WORK FROM HOME (WFH) ซึ่งเดิมมาตรการ WFH ใช้เกณฑ์ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง (ค่า PM 2.5 ตั้งแต่ 75.1 มคก./ลบ.ม.) 5 เขต และคาดการณ์ล่วงหน้า 2 วัน เป็นสีแดง 5 เขต จึงจะประกาศ WFH แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากการ WFH เป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ เพราะฉะนั้น กทม.จะลดมาตรการลง เพื่อให้ประกาศ WFH ได้ง่ายขึ้น
สำหรับเกณฑ์การประกาศ WFH จะมีการพยากรณ์ล่วงหน้า 1 วัน หากพบค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม (ค่า PM 2.5 ตั้งแต่ 37.6-75.0 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 35 เขตขึ้นไป (70% ของพื้นที่กรุงเทพฯ) อัตราการระบายอากาศ (VR) ไม่ดี คือน้อยกว่า 2,000 ตารางเมตร/วินาที และพบจุดความร้อน (จุดเผา) เกินวันละ 80 จุด ติดต่อกัน 3 วัน จะมีมีการประกาศ WFH ซึ่ง กทม. กำลังติดตามอย่างละเอียดสำหรับต้นสัปดาห์หน้าในวันจันทร์-อังคาร เนื่องจากเห็นว่าอัตราการระบายเริ่มจะไม่ค่อยดี ตั้งแต่วันเสาร์-อาทิตย์ โดยจะมีการแจ้งอีกครั้งหนึ่ง
"การ WFH จะทำให้ปริมาณการจราจรในถนนลดลง ทำให้การจราจรติดขัดน้อยลง การปล่อยฝุ่นสะสมจะน้อยลงด้วย โดยในช่วงก.พ. 67 ที่ได้มีการประกาศ WFH ไปนั้น ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน 151 แห่ง หรือประมาณ 60,279 คน ร่วม WFH ตามประกาศ พบว่าปริมาณการจราจรในท้องถนนลงลดเกือบ 10%" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ปัจจุบัน มีหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย WFH ประมาณเกือบ 100,000 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 200,000 คน จึงขอเชิญชวนหากใครอยากจะร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนกับ กทม. ได้ผ่านลิงก์ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr โดยอยากให้บริษัทเข้าร่วมโครงการกับกทม. เพื่อจะได้เป็นประกาศจากบริษัทให้พนักงาน WFH
ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โทร 02-2032951
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า อีกแนวคิดที่จะดำเนินเนินการ โดยอยู่ในขั้นตอนของนักวิชาการ คือตอนนี้มีโครงการรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ แล้ว มีทางด่วนต่าง ๆ เยอะ จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการพ่นฝอยละออง โดยไม่ได้ทำเฉพาะบริเวณสถานี แต่ต้องขยายผลตามแนวรถไฟฟ้า อาทิ สายสีเขียว สีเหลือง สีชมพู หรือทางด่วน ตลอดจนถนนลอยฟ้าต่าง ๆ ที่มีการจราจรติดขัดด้านล่าง
อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้อาจจะช่วยในเรื่องของ PM 10 ที่สามารถแตกตัวเป็น PM 2.5 ซึ่ง PM 10 เป็นส่วนหนึ่งของการคำนวนค่า AQI และอาจจะมีผลต่อด้านอื่น ทั้งนี้ ต้องให้มั่นใจก่อนว่าฝอยละอองน้ำช่วยได้จริงหรือไม่ โดยจะรวบรวมหลักฐานทางวิชาการ เพื่อยืนยันให้ชัดเจน แล้วจึงจะออกแบบทั้งระบบ
"โครงการนี้ อาจจะไม่ทันในปีนี้ ขอให้มีข้อมูลที่ชัดเจนก่อน เนื่องจากจะเป็นโครงการขนาดใหญ่" ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากการใช้รถยนต์ ขณะเดียวกัน ตอนนี้จะเห็นว่ามีการเผาชีวมวลในพื้นที่ด้านนอกมากขึ้น โดยในประเทศไทยมีการเผาเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากปีที่แล้ว
ในส่วนของ กทม. จะต้องเดินหน้ามาตรการเกี่ยวกับเรื่องรถยนต์ในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/เปลี่ยนไส้กรอง เรื่องโครงการ LOW EMISSION ZONE หรือห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป (ยกเว้น EV, NGV, EURO 5 และ 6) เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว
"เมื่อถึงเกณฑ์ ก็จะประกาศไม่ให้รถบรรทุกเข้ามาได้ ยกเว้น EV, NGV, EURO 5-6 และรถที่ขึ้นบัญชีสีเขียว (Green List) ซึ่งปัจจุบันมีรถขึ้นทะเบียน Green List แล้วประมาณ 12,000 คัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/เปลี่ยนไส้กรองไม่มาก โดยคาดไว้ 500,000 คัน ขณะนี้มีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/เปลี่ยนไส้กรองประมาณ 200,000 คัน" นายชัชชาติ ระบุ
ด้านรถเมล์ควันดำ ได้สั่งการให้ไปตรวจทุกอู่ คันไหนที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐานจะไม่ให้ออกมาวิ่ง หากเป็นรถบรรทุก ให้ติดตามถึงไซต์ก่อสร้าง เมื่อพบควันดำเกินค่ามาตรฐานให้หยุดการก่อสร้าง ซึ่งเคยทำไปแล้วในกรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และต่อไปจะขยายผลไปยังรถบรรทุกที่ปล่อยควันดำด้วย เพื่อให้เจ้าของงานร่วมรับผิดชอบในการไม่จ้างรถควันดำ กทม. จะตรวจอย่างเต็มที่ ส่วนประชาชนสามารถร่วมเป็นหูเป็นตาได้ โดยหากพบรถบรรทุกควันดำให้แจ้งผ่าน Traffy Fondue