นายสุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร M STUDIO เปิดเผยถึงแผนงานในปี 2568 ว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายจะสร้างผลงานภาพยนตร์ไทยหลากหลายแนวออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายความสำเร็จในการเป็นที่สุดแห่งปรากฎการณ์ภาพยนตร์ไทย จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปี 2566 และ 2567 ของภาพยนตร์เรื่อง "ธี่หยด" และ "ธี่หยด 2" ที่ทำลายทุกสถิติในประเทศไทย มีจำนวนบัตรชมภาพยนตร์มากกว่า 10 ล้านใบ
พร้อมกันนี้ M STUDIO จะเดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตรร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ไทยเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ช่อง 3, Workpoint, Mono Group, Kantana, Karman Line Studio และ Plan B ที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ไทยอีกกว่า 20 เรื่อง อาทิ ธี่หยด 3, นาคี 3, อนงค์ 2, มือปืน, The Stone พระแท้ คนเก๊ และ สุสานคนเป็น
"M STUDIO จะไม่หยุดพัฒนา เพื่อสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายตลาดการส่งออกภาพยนตร์ไทย ไปยังตลาดต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น" นายสุรเชษฐ์ กล่าว
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปี 68 จะเป็นปีทองของภาพยนตร์ไทย และน่าจะเป็นปีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ต่อเนื่องจากความสำเร็จที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการที่คนไทยให้ความสนใจภาพยนตร์ไทยมากขึ้น มีช่องทางการเพิ่มรายได้มากขึ้นจากการออกสู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งภาพยนตร์ไทยได้เข้าไปอยู่ในสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มที่กระจายคอนเทนต์ไปทั่วโลก
ปีนี้คาดว่าจะมีภาพยนตร์ไทยจากหลาย ๆ ค่ายออกสู่ตลาดมากถึง 70 เรื่อง โดยในส่วนของ M STUDIO มีทั้งหมดประมาณ 20 เรื่อง วางงบลงทุนไว้เกือบ 1,000 ล้านบาท โดยลงทุนมากขึ้นจากปีก่อน 2 เท่าจากปี 67 ลงทุนราว 500 ล้านบาท เนื่องจากมองเห็นโอกาสของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่กำลังเติบโตทั้งในและต่างประเทศ และในหลายแพลตฟอร์ม โดยเพิ่มงบลงทุนเพื่อให้ภาพยนตร์ไทยมีคุณภาพมากขึ้น
"ต้นทุนของการผลิตหนังต่อเรื่องขึ้นอยู่กับ Story แต่เมื่อยิ่งผลิตหนังเยอะต้นทุนก็ลดไปด้วย เนื่องจากเรามีความชำนาญมากขึ้น มีพันธมิตรมากมาย และสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี เราลงทุนมากขึ้นเพราะต้องการหนังที่คุณภาพสูงขึ้น แต่รายได้ก็สูงตามไปด้วย โดยสัดส่วนรายได้ 60-70% ยังมาจากโรงภาพยนตร์ แต่รายได้จากช่องทางอื่นเองก็โตขึ้นเรื่อย ๆ โดยความนิยมของโรงภาพยนตร์ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเราเองก็ได้ขยายจำนวนโรงภาพยนตร์มากขึ้นโดยเฉพาะที่ต่างจังหวัดด้วย โดยภาพรวมคาดว่า ปี 68 นี้ M STUDIO น่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 30-40%" นายสุรเชษฐ์ กล่าว
* ปลื้ม! ปี 67 "หนังไทย" มาร์เก็ตแชร์แซง "หนังฮอลีวูด"
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่น่ายินดีของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เนื่องจากภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งตลาด (Market share) มากกว่าภาพยนตร์ฮอลีวูด โดยภาพยนตร์ไทย มีสัดส่วนรายได้มากถึง 54% มากกว่าภาพยนตร์ฮอลีวูด ซึ่งอยู่ที่ 38% และภาพยนตร์อื่น ๆ 8% ของมูลค่าตลาดรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยที่ 4,485 ล้านบาท จากจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายทั้งหมด 326 เรื่อง
"ปี 2567 เป็นปีที่น่ายินดีและภาคภูมิใจอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย สามารถมีมาร์เก็ตแชร์มากกว่าภาพยนตร์ฮอลีวูด สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ได้รับการยอมรับเป็น TOLLYWOOD (Thailand+Hollywood) อย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นปีแรก ที่ภาพยนตร์ไทยมีสัดส่วนรายได้มากถึง 54% มากกว่าภาพยนตร์ฮอลีวูด ซึ่งอยู่ที่ 38% ของมูลค่าตลาดรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยที่ 4,485 ล้านบาท" นายสุรเชษฐ์ กล่าว
* 8 หนังไทย โกยรายได้ทะลุ 100 ล้าน/เรื่องในปี 67
นายสุรเชษฐ์ ระบุว่า ในปี 2567 ภาพยนตร์ไทย สามารถทำรายได้รวมในประเทศ 2,438 ล้านบาท จากภาพยนตร์ที่เข้าฉายรวม 54 เรื่อง โดยภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท มีทั้งหมด 8 เรื่อง ในนั้นเป็นของ M STUDIO 3 เรื่อง ดังนี้
1. ธี่หยด 2 ของ M STUDIO ทำรายได้ 815 ล้านบาท
2. หลานม่า ของ จีดีเอช 559 ทำรายได้ 339 ล้านบาท
3. พี่นาค 4 ของ ไฟว์สตาร์ ทำรายได้ 178 ล้านบาท
4. อนงค์ ของ M STUDIO ทำรายได้ 150 ล้านบาท
5. วิมานหนาม ของ จีดีเอช 559 ทำรายได้ 150 ล้านบาท
6. หอแต๋วแตกแหกสัปะหยด ของ M STUDIO ทำรายได้ 130 ล้านบาท
7. เทอม 3 ของ สหมงคลฟิล์ม ทำรายได้ 122 ล้านบาท
8. วัยหนุ่ม 2544 ของ เนรมิตหนัง ฟิล์ม ทำรายได้ 122 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2567 M STUDIO มีภาพยนตร์ไทยที่ผลิตเอง และรับจัดจำหน่าย รวมทั้งหมด 16 เรื่อง ทำรายได้รวม 1,322 ล้านบาท ส่วนภาพยนตร์ฮอลีวู้ด ที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท ในปี 2567 มีเพียง 4 เรื่อง คือ 1. Dune: Part Two 2. Deadpool & Wolverine 3. Inside Out 2 และ 4. Godzilla x Kong: The New Empire
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายของผู้สร้างหนังไทยคือความคาดหวังของผู้ชมที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าเราจะไม่ทำภาพยนตร์ที่ไม่มีคุณภาพออกมา ขณะเดียวกันก็ต้องมีความสร้างสรรค์ด้วย โดยความนิยมของคนไทยเปลี่ยนไปหลังจากช่วงโควิด-19 ที่ทุกคนต้องอยู่ที่บ้าน และได้เสพสื่อที่หลากหลาย เดิมที่มีภาพว่าคนไทยชอบภาพยนตร์แนวตลกหรือแนวผีเท่านั้น ตอนนี้ได้เปลี่ยนไป ภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมมาก ๆ กลับมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งภาพยนตร์แนวแอกชัน หรือแนวดราม่า ก็กลายเป็นที่สนใจของคนไทยเช่นกัน
ภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปีนี้จะเติบโตแน่นอน อย่างไรก็ตามในส่วนของภาพยนตร์ฮอลลีวูดในปีนี้ก็จะเป็นปีทองเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ภาคต่อหลายเรื่องที่จะเข้าโรงภาพยนตร์ในปีนี้
"ปีนี้อุตสาหกรรมหนังเป็นปีทอง แม้หนังฮอลลีวูดปีนี้จะมาแรง แต่หนังไทยก็มาแรงเช่นกัน จึงหวังว่าหนังไทยจะยังสามารถครองสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ได้เท่ากับหรือมากกว่าหนังฮอลลีวูดในปีนี้" นายสุรเชษฐ์ กล่าว
สิ่งที่อยากให้รัฐบาลสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยคือการเติมเต็มในทุกมิติและทุกระยะ เนื่องจากภาพยนตร์ไทยตอนนี้ยังเพิ่งเดินทางมาถึงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยในระยะสั้นคือช่วยสนับสนุนด้านการตลาด พาภาพยนตร์ไทยไปสู่ตลาดโลก เนื่องจากในส่วนนี้ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ในระยะกลางคืออยากให้สนับสนุนเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะหลายค่ายมีโปรเจกต์ มีไอเดียดี ๆ แต่ไม่มีงบประมาณ และในระยะยาว คือสนับสนุนเรื่องการศึกษาในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ไทย