"ไทยอุดรธานี" ยันโรงน้ำตาล-โรงไฟฟ้า ได้มาตรฐาน เดินหน้าแผน "จัดการอ้อยยั่งยืน"

ข่าวทั่วไป Monday January 20, 2025 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากกรณีกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งปิดโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และโรงไฟฟ้าของบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี หลังทีมตรวจการสุดซอย พบว่า บริษัทฯ มีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุดจากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน อีกทั้งยังพบว่า บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำส่งให้กับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี โดยบริษัทฯ ฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย มีการประกอบกิจการในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานและประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงาน

นอกจากนี้ บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด ยังมีการประกอบกิจการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่พนักงานหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงานในหลายประเด็น เช่น มีการจัดเก็บหรือการดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมที่ใช้และเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ตู้ควบคุมไฟฟ้าอยู่ในสภาพชำรุดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้ง มีการติดตั้งระบบดับเพลิงที่ไม่พร้อมใช้งานในหลายจุด อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีจึงมีคำสั่งด่วนที่สุดให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งหมด จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้จัดประชุมคณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัท เพื่อติดตามผลการดำเนินงานเปิดเดินเครื่องจักร ของโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 68 พร้อมยืนยันว่า โรงไฟฟ้าไทยอุดรธานี เพาเวอร์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย หม้อไอน้ำที่ใช้เป็นหม้อไอน้ำคุณภาพสูงจากประเทศญี่ปุ่น ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัยทุกปี อีกทั้งมีการส่งรายงานตรวจติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในทุก 6 เดือนอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับการจัดการงานด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศแบบ real time CEMs (Continuous Emission Monitoring System) ซึ่งส่งข้อมูลออนไลน์ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม

บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และ บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด เป็นกิจการที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน และมุ่งมั่นดำเนินงานตามแนวทาง ESG ซึ่งรวมไปถึงนโยบาย แนวปฏิบัติ และมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับเรื่องการไม่รับซื้ออ้อยไฟไหม้นั้น โรงงานยินดีที่จะปฏิบัติตามนโยบาย และแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติ การตัด การเผา-ไม่เผา ขึ้นอยู่กับบริบทของการทำไร่อ้อยตามสภาพพื้นที่ ความสามารถ/ความพร้อมของชาวไร่อ้อยเป็นสำคัญ โรงงานเป็นปลายทางของห่วงโซ่ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ และความร่วมมือกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญา เพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อย สนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดอย่างบูรณาการ และเพื่อขานรับนโยบายของภาครัฐ

พร้อมกันนี้ ก็ได้เร่งรัดแผนงาน "การจัดการอ้อยยั่งยืน" อันเป็นนโยบายด้านความยั่งยืน ประจำปี 2568 ของบริษัทให้มีการปฏิบัติการเร็วขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ