นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการใช้เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำ และโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเป็นการเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองต่อไปได้ โดยแผนปฏิบัติการของกรมฝนหลวงฯ จะทำการบินทุกวันในช่วงเช้าตั้งแต่ 10.00 น. และช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00 น. ใช้เวลาบินประมาณ 20-30 นาที
ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำการบินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจะบูรณาการร่วมกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ในการกำหนดชั้นความสูง และกำหนดพื้นที่ในกรุงเทพชั้นใน เพื่อทำปฏิบัติการลดฝุ่น ซึ่งบางจุดต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการบินของเครื่องบินเชิงพาณิชย์ชั่วคราว เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงได้อย่างปลอดภัย
โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในจะจำกัดระดับความสูงไม่เกิน 3,000 ฟุต และหากจะทำการบินในพื้นที่ดังกล่าวได้ จะต้องมีการประสานงานล่วงหน้า เพื่อให้เครื่องบินจากสนามบินมีการเปลี่ยนเส้นทางบินชั่วคราว ประมาณ 10-20 นาที หลังจากนั้นจึงจะสามารถใช้เส้นทางบินได้ตามปกติ
"นับเป็นปีแรก ที่กรมฝนหลวงฯ กับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในอย่างเป็นรูปธรรม" รมช.เกษตรฯ กล่าว
ด้าน นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ภาคการเกษตรในระดับพื้นที่ รวมทั้งมาตรการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรที่ไม่เผา จะได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากทางภาครัฐ นอกจากนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในระดับภูมิภาค เร่งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงโทษของการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และเตรียมความพร้อมในการปรับตัว เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ด้วย
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (ข้อมูล ณ 22 ม.ค.) พบว่า ภายหลังปฏิบัติการฝนหลวง ค่าความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีแนวโน้มลดลง ดัชนีคุณภาพอากาศดีขึ้น โดยจากการจัดอันดับของกรุงเทพฯ จากเดิมที่มีค่าคุณภาพอากาศ (AQI) เท่ากับ 168 (อันดับที่ 14) เปลี่ยนเป็นค่าคุณภาพอากาศ (AQI) เท่ากับ 134 (อันดับที่ 21) แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีค่ามลพิษทางอากาศลดลง เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มคุณภาพอากาศภาพรวมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะดีขึ้นตามลำดับก็ตาม แต่ยังต้องขอความร่วมมือจากประชาชนและเกษตรกร ร่วมกันลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะและฝุ่นละอองในอากาศ รวมทั้งลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง