สธ. ออก 5 มาตรการเร่งด่วนรับมือฝุ่น PM2.5 ตามข้อสั่งการนายกฯ

ข่าวทั่วไป Friday January 24, 2025 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สธ. ออก 5 มาตรการเร่งด่วนรับมือฝุ่น PM2.5 ตามข้อสั่งการนายกฯ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามข้อสั่งการเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งบางเรื่องได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้

1. เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) เพิ่มเติมจาก 10 จังหวัด และ 2 เขตสุขภาพ พร้อมติดตามจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ และอาการกำเริบที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องทุกวัน

2. ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน โดยจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะมีการแถลงสถานการณ์ทุกวันในเวลา 14.00 น. พร้อมทั้งให้สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ประชาชนแจ้งเตือนประชาชนในการปฏิบัติตนและงดเผาในที่โล่ง โดยมีสายด่วน 1478 เพื่อตอบข้อสงสัยของประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

3. ทีมพิเศษฉุกเฉินสาธารณสุขระดับจังหวัด 76 ทีม และระดับอำเภอ 878 ทีม ลงพื้นที่ดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศกว่า 1.5 แสนราย

4. เปิดคลินิกมลพิษใน 55 จังหวัด เปิดห้องปลอดฝุ่น 5,517 ห้อง รองรับการให้บริการประชาชนเกือบ 1 ล้านราย สนับสนุน "มุ้งสู้ฝุ่น" ให้กับกลุ่มเสี่ยง 35 จังหวัด และมีแผนกระจายให้กับผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่เสี่งสูงอีก 37,569 ราย

5. สนับสนุนหน้ากากอนามัยให้กับสถานบริการสาธารณสุขไปกว่า 1.8 แสนชิ้น และหน้าหาก N95 อีก 1.1 ล้านชิ้น ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อให้การดูแลประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วย

"เราจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้มีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี ผ่านพ้นปัญหาหมอกควันนี้ไปด้วยกัน" นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.67 พบผู้ป่วยจากฝุ่น PM2.5 มากถึง 1.04 ล้านราย โดยผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืดกำเริบ ได้รับผลกระทบมากสุด จึงเห็นสมควรให้มีการประกาศเขตพื้นที่เฝ้าระวังฯ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากผู้ว่าฯ จังหวัดใดเห็นสมควร ให้เสนอเรื่องมายังกรมควบคุมโรคเพื่อประกาศเขตพื้นที่เฝ้าระวังฯ ซึ่งมาตรการแรก ๆ ที่จะนำมาใช้ คือ การทำงานที่บ้าน (Work from Home : WFH) และงดกิจกรรมกลางแจ้ง, ขอความร่วมมือจากเกษตรกรและผู้ประกอบการขนส่งงดกิจกรรมเพื่อลดฝุ่น

"การบังคับใช้กฎหมาย จะไม่มีบทลงโทษ ส่วนใหญ่เป็นการขอความร่วมมือ เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนร่วมกัน" นพ.ภาณุมาศ กล่าว

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (25 ม.ค.) จะมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานในพื้นที่ทั่วประเทศราว 7,700 แห่ง ให้ปรับงบประมาณค้างท่อที่มีอยู่ราว 3,536 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้จัดหาหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเสี่ยงอย่างเพียงพอ โดยให้ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และโรงพยาบาลในพื้นที่

กรณีที่มีเด็กเกิดอาการเลือดกำเดาไหลนั้น นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เกิดจากการฉีกขาดของเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูก เนื่องจากอากาศเย็นแล้วมีการขยี้จมูกแรง ๆ ซึ่งสามารถปฐมพยาบาลได้ แต่หากเลือดไหลไม่หยุดเกิน 30 นาทีให้รีบพาไปพบแพทย์

ส่วนกรณีใกล้เทศกาลตรุษจีนที่จะมีการจุดธูป-เทียน เผากระดาษ และจุดประทัดนั้น นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ควรใส่หน้ากากอนามัย และขอความร่วมมือในการลดเผาดังกล่าวเพื่อลดฝุ่น หากจำเป็นต้องเผา ควรอยู่ในบริเวณที่มีการระบายอากาศได้ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ