นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลดค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี (ยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ และถอนบังคับคดี) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2499 โดยมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมลงเพื่อลดภาระของลูกหนี้ และส่งเสริมให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีเพื่อชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น
โดยกฎหมายเดิมกำหนดให้ทรัพย์สินที่ถูกยึดมาแล้วเพื่อขายทอดตลาดจะเสียค่าธรรมเนียม 5% ต่อมาในปี 2547 ได้มีการแก้ไขกฎหมายมาแล้วให้ลดเหลือ 3% แต่ล่าสุดได้เสนอให้ปรับลดลงอีกเหลือ 2%
กรณีทรัพย์สินที่ถูกยึดไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ที่ดิน หากไม่มีการขายทอดตลาดแล้วต้องถอนการยึดจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 3.5% ต่อมาในปี 2547 มีการแก้ไขกฎหมายให้ลดเหลือ 2% แต่ล่าสุดได้เสนอให้ปรับลดลงอีกเหลือ 0%
"ต่อไปถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ ถ้าเป็นที่ดินที่ไม่ใช่ตัวเงิน ถ้าถอนการยึดโดยไม่มีการขายจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเลย ซึ่งที่ผ่านมามีหลายคดีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะต้องให้ลูกหนี้ชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดก่อน ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวไปจำหน่ายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้" นายสมบูรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ณ วันที่ 4 ก.พ.68 กรมบังคับคดีได้รับหมายบังคับคดีในคดีแพ่งจำนวน 4,199,425 คดี แบ่งเป็น หมายบังคับคดีที่เจ้าหนี้ได้ตั้งเรื่องทำการยึดและอายัดทรัพย์ไว้แล้ว 844,543 คดี มีทุนทรัพย์ 1 ล้านล้านบาท และหมายบังคับคดีที่รอเจ้าหนี้ไปดำเนินการขอยึดและอายัดทรัพย์อีก 3,354,872 คดี มีทุนทรัพย์ 16 ล้านล้านบาท ซึ่งหากมีการปรับลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้วจะส่งผลให้รายได้ของกรมบังคับคดีจากปกติปีละ 1,500 ล้านบาท ลดลงไปราว 35%