ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้จำคุก น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นเวลา 2 ปี ในความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ให้ได้รับความเสียหาย
โดยศาลชี้ให้เห็นว่า สำนักงาน กสทช.ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over the TOP หรือการให้บริการเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) ที่บริษัท ทรู ดิจิทัลฯ ดำเนินการอยู่ ทำให้ไม่ต้องรับใบอนุญาตเหมือน IPTV การดำเนินการของน.ส.พิรงรอง เป็นการเลือกปฏิบัติ แม้จะอ้างว่าใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับผู้ประกอบการอื่น ๆ
อีกทั้งมีพฤติการณ์เป็นการปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ เจตนามุ่งกลั่นแกล้งและใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โดยคำพูดของ น.ส.พิรงรอง เคยระบุว่า มีแนวทางล้มยักษ์ และยอมรับว่าหมายถึงบริษัทฯ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่า ประสงค์ให้กิจการของบริษัทฯ ได้รับความเสียหาย เพราะมีผู้ประกอบการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทำธุรกิจกับทางบริษัทฯ
ล่าสุด ศาลฯ อนุญาตให้ประกันตัวได้ โดยวางหลักทรัพย์ประกันวงเงิน 1.2 แสนบาท และห้ามออกนอกประเทศ
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า คำตัดสินของศาลระบุว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงการทำเอกสารเท็จ ซึ่งถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่าด้วยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจาก น.ส.พิรงรอง ซึ่งเป็นคณะกรรมการ กสทช. และเป็นคณะอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ดำเนินการให้ระบุชื่อ ทรู ไอดี แจ้งไปที่สำนักงาน กสทช.เพื่อให้สำนักงาน กสทช.ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการช่องทีวี 127 แห่ง โดยที่รู้อยู่แก่ใจว่า กสทช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจ OTT และมีผู้ทักท้วงในที่ประชุมแล้ว จึงถือเป็นการจงใจกลั่นแกล้งให้ทรู ไอดี ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ ในการบันทึกรายงานการประชุมครั้งแรกมิได้ให้ระบุชื่อทรู ไอดี ลงในหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการช่องทีวีแต่อย่างใด แต่ต่อมา น.ส.พิรงรอง ได้มีการทักท้วงในที่ประชุมว่าทำไมถึงไม่ระบุชื่อ ทรู ไอดี ให้ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่ ในที่ประชุมมีการทักท้วงเรื่องการระบุชื่อทรูไอดีแล้ว หลังจากหนังสือแจ้งถูกส่งออกไปแล้ว มีการแก้ไขรายงานการประชุมในภายหลัง ซึ่งไม่ได้เป็นมติของที่ประชุม ถือเป็นการทำรายงานการประชุมเท็จ และเป็นการกระทำโดยเจตนา ส่งผลให้ ทรู ไอดี ได้รับความเสียหาย
กรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีตัวอย่างในการยกระดับมาตรฐานของคณะกรรมการกำกับดูแล (Regulator) ของประเทศไทย ในการใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างระมัดระวังที่กรรมการต้องตระหนักถึง Fiduciary Duty หรือความรับผิดชอบตามบทบาทกรรมการ ซึ่งครอบคลุมหน้าที่หลัก 4 ประการ ได้แก่ Duty of Care ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง Duty of Obedience ดำเนินการตามหลักความโปร่งใสและจริยธรรม Duty of Loyalty ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน Duty of Faith ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตใจ
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่า จากการที่น.ส.พิรงรอง ได้รับการตัดสินดังกล่าว ไม่กระทบกับการทำงานหน้าที่ กรรมการ กสทช. แต่อย่างใด และคดีก็ยังเป็นเพียงศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามจะได้รับแรงกดดันในที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. หรือไม่