![กทม. ไฟเขียว BTS ปรับปรุงทางเชื่อมอาคาร-ห้องเก็บอุปกรณ์ 20 สถานี](/img/files/20250210/iq72c0c7bfc64f108cfda11ebf934e6889.jpg)
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2568 โดยที่ประชุมหารือกรณี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ขอปรับปรุงรูปแบบทางเชื่อมระหว่างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสชิดลม กับอาคารเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 โรงพยาบาลตำรวจ (บางส่วน)
โดยรายละเอียดการขอปรับปรุง มีดังนี้
1. ขอปรับปรุง Slope ทางเข้าอาคาร โดยปรับความลาดชัน (Slope) จากเดิม 1:7 เป็น 1:10 เพื่อให้การขนย้ายผู้ป่วยที่มีเตียงสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยวัสดุพื้นและอื่น ๆ หลังปรับความชันยังคงเป็นวัสดุประเภทเดิม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ปรับ Slope ให้มีความลาดชันน้อยลง โดยขอให้พิจารณาปรับความลาดชันเป็น 1:12
2. ขอเปลี่ยนแปลงราวกันตก และกันสาด เนื่องจากการใช้วัสดุกระจกเป็นกันสาดและราวกันตกมีความเสี่ยง เมื่อเกิดเหตุชนกระจก จะทำให้กระจกแตก และเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานทางเชื่อม จึงเสนอเปลี่ยนเป็นวัสดุที่มีความทนทาน ไม่เป็นอันตราย และสามารถบำรุงรักษาได้ง่ายกว่า โดยกันสาดเดิมกำหนดใช้กระจกเทมเปอร์หนา 10 มม. เปลี่ยนเป็นแผ่นอะครีลิค และราวกันตกเดิมกำหนดใช้กระจกเทมเปอร์หนา 10 มม. เปลี่ยนเป็นเหล็กแบนหนา 9 มม. โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ
นอกจากนี้ ยังมีการหารือกรณี BTSC ขอปรับปรุงทางเชื่อม ระหว่างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต กับอาคารหมอชิตแลนด์ (บางส่วน) โดยขอขยายทางเข้าอาคารหมอชิตแลนด์ จากเดิมทางเชื่อมกว้าง 5.80 ม. ทางเข้าอาคารกว้าง 2.80 ม. เป็นทางเชื่อมอาคารกว้าง 30.50 ม. ทางเข้าอาคารกว้าง 3.0 ม. 2 ฝั่ง (ซ้าย-ขวา)
ทั้งนี้ เพื่อช่วยยกระดับการให้บริการ (Level of Service) จากระดับ C เป็นระดับ A คนเดินได้รับความสะดวกและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในการช่วยระบายคนเข้า-ออกอาคาร กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ช่วยให้การอพยพคนมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามใบอนุญาตเดิม รวมทั้งห้ามตั้งวางขายของ หรือดำเนินการทางพาณิชย์ในบริเวณดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ได้หารือกรณี BTSC ขอปรับปรุงเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของและอุปกรณ์ บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 20 สถานี ประกอบด้วย สถานีชิดลม (E1) สถานีเพลินจิต (E2) สถานีนานา (E3) สถานีอโศก (E4) สถานีพร้อมพงษ์ (E5) สถานีทองหล่อ (E6) สถานีเอกมัย (E7) สถานีพระโขนง (E8) สถานีอ่อนนุช (E9) สถานีราชเทวี (N1) สถานีพญาไท (N2) สถานีอนุสาวรีย์ชัยฯ (N3) สถานีอารีย์ (N5) สถานีสะพานควาย (N7) สถานีหมอชิต (NB) สถานีศาลาแดง (52) สถานีช่องนนทรี (53) สถานีเซนต์หลุยส์ (54) สถานีสุรศักดิ์ (55) และสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ (W1) โดยขอเพิ่มพื้นที่ในการเก็บของ และอุปกรณ์อื่น ๆ ขนาดกว้าง 2.67 ม. ยาว 2.67 ม. สูง 2.60 ม.
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ เนื่องจากไม่กีดขวางทางเดิน อยู่นอกพื้นที่ชานชาลา ไม่กระทบต่อประชาชนที่มาใช้บริการ โดยในระหว่างการก่อสร้าง ให้เฝ้าระวังป้องกันการเกิดอัคคีภัย ให้ตรวจสอบวัสดุ อุปกรณ์ การจัดเก็บวัตถุอันตราย อย่างละเอียดรอบคอบ