![กสทช. เปิดปฏิบัติการ](/img/files/20250210/iq6afd17dca967ec1b2ab1288d5a5df711.jpg)
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (10 ก.พ.) สำนักงาน กสทช. ร่วมกับตำรวจภูธรภาค 2 นำโดย พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (ผบช.ภ.2) ลงพื้นที่ จ. สระแก้ว ตรวจสอบสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่และจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศ จำนวน 3 จุด ได้แก่ (1) สถานีรถไฟ ด่านพรมแดนคลองลึก (2) สถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่หลังตลาดเบญจวรรณ และ (3) สถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ บ้านโคกสะแบง ต.ท่าข้าม เพื่อร่วมกันตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในจุดสำคัญเนวชายแดนอรัญประเทศ-ปอยเปต ประเทศกัมพูชา และตรวจสอบสายสื่อสารที่จุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศ หลังมีการสืบทราบว่าได้นำสัญญาณโทรศัพท์ของไทยไปใช้กับแก๊งคอลเซนเตอร์
จากการลงพื้นที่วันนี้พบว่า บริเวณตลาดเบญจวรรณ พบเสาโทรศัพท์ที่นำสายอากาศหันหน้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 1 ต้น และบ้านโคกสะแบง จำนวน 2 ต้น โดยได้สั่งผู้ให้บริการโทรศัพท์หันสายอากาศเข้าประเทศ และลดระดับเสาลง และเพื่อไม่ให้กระทบประชาชนในประเทศโดยรอบ ได้สั่งการให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ติดตั้งเสาอากาศขนาดเล็กทดแทน
ขณะนี้สำนักงาน กสทช. ได้ออกมาตรการ "เสา-สาย-ซิม" คุมเข้มเพิ่มเติมสั่งการให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายปฏิบัติอย่างเข้มข้น ประกอบด้วย
- มาตรการตั้งเสาบริเวณชายแดน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก กรณีผู้ให้บริการตั้งเสาติดเขตแดนไม่เกิน 50 เมตร ให้ผู้ประกอบการรื้อถอนสายอากาศ ยกเว้นกรณีชุมชน ให้ติดตั้งระดับความสูงของสายอากาศไม่เกิน 10 เมตร หรือติดตั้งเสาอากาศขนาดเล็ก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ยังมีโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตใช้บริการ
กลุ่มสอง การตั้งเสาระยะไม่เกิน 1,000 เมตร นับจากเส้นแบ่งเขตแดน ให้ลดกำลังส่งและปรับลดระดับความสูงของสายอากาศไม่เกิน 15 เมตร
กลุ่มที่สาม กรณีตั้งเสาระยะไม่เกิน 3,500 เมตร นับจากเส้นแบ่งเขตแดน ให้ตั้งเสาอากาศความสูงไม่เกิน 30 เมตร
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปกรณีที่ผู้ประกอบการจะขอติดตั้งเสาในเขตพื้นที่ติดชายแดน สำนักงาน กสทช. จะไม่อนุญาต ยกเว้นกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าอยู่ในเขตชุมชนมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก จะให้ตั้งเสาระยะความสูงไม่เกิน 10 เมตร มาตรการทั้งหมดเพื่อไม่ให้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ล้นออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หากตรวจพบมีการลักลอบติดสายอากาศ สำนักงาน กสทช. จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป
- มาตรการคุมเข้มสาย สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตรวจสอบสายสื่อสารตามจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อค้นหาการลักลอบลากสายสื่อสาร พร้อมทั้งสั่งการผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดฉลาก (Tag) ของบริษัทบนท่อร้อยสายเคเบิล หรือบนสายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อระบุความเป็นเจ้าของสายสื่อสารของผู้ให้บริการ ตรวจสอบการลักลอบลากสายสื่อสารข้ามแดน หากพบว่ามีสายสื่อสารที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้จะมีการตัดสาย และดำเนินการคดีตามกฎหมายทันที
- มาตรการซิม อยู่ระหว่างการพิจารณาจะไม่ให้ลูกตู้ลงทะเบียนซิม โดยให้ลงทะเบียนซิมที่ศูนย์บริการเท่านั้น แต่กรณีนี้อาจส่งผลกระทบประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล ที่ต้องเดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อลงทะเบียนซิม
"เราจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนลงพื้นที่อย่างเข้มข้นต่อเนื่องจนกว่าจะบรรลุภารกิจ เพื่อเร่งกวาดล้างแก๊งคอลเซนเตอร์ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา" นายไตรรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ได้ออกคำสั่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายดำเนินการรื้อถอนเสาสัญญาณรวมทั้งหมด 24 ต้น จากจำนวนรวมของผู้ให้บริการทุกรายที่ตั้งอยู่ในรัศมี 50 เมตรจากแนวชายแดน ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดตาก ได้แก่ อำเภอแม่ระมาด แม่สอด และพบพระ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 ก.พ. 68
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น [TRUE] กล่าวว่า กสทช. ตรวจสอบแจ้งมาว่ามีจำนวนเสาของทรู 10 แห่ง จาก 24 แห่ง ที่ต้องดำเนินการรื้อถอน ซึ่งที่ผ่านมาเสาทรู และดีแทคดังกล่าวที่อยู่ตามแนวชายแดน ได้ตัดสายสื่อสารและระงับสัญญาณเป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งปรับทิศทางการส่งสัญญาณให้อยู่ในเขตชุมชน จ.ตาก
เมื่อดำเนินการรื้อถอนเสร็จสิ้น ทางทีมทรู จะเข้าสำรวจสัญญาณในพื้นที่อีกครั้ง เพื่อเช็กสัญญาณมือถือ และจะวางแผนติดตั้งเสาสัญญาณขนาดเล็ก หรือ Small Cell สำหรับกรณีถ้าสัญญาณในชุมชนลดลง เพื่อทดแทนบริการ และคงประสิทธิภาพและคุณภาพเดิมโดยครอบคลุมชุมชนของไทย