เกิดเหตุโรงน้ำแข็งแอมโมเนียรั่ว ที่จังหวัดลพบุรี เบื้องต้นส่งผลให้คนงานได้รับบาดเจ็บ ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช 32 คน แบ่งเป็น หญิง 17 ราย ชาย 6 ราย เด็กหญิง 6 ราย เด็กชาย 3 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ต้องแอดมิด 4 ราย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า บริเวณด้านหน้าโรงงาน ยังมีกลิ่นแอมโมเนีย และส่วนที่ใช้แอมโมเนียในการหล่อเย็นคือ การผลิตน้ำแข็งหลอด ไม่ได้ใช้ผลิตน้ำแข็งซอง ขณะที่บริเวณผลิตน้ำแข็งซอง พบว่า จุดเครื่องจักรที่เป็นจุดทำความเย็นด้วยแอมโมเนีย ยังมีกลิ่นแอมโมเนียค่อนข้างมาก แม้ใส่หน้ากาก N95 ยังได้กลิ่น ไม่สามารถเข้าไปเวลานานได้
"สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป คือ อุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมกับ สสจ.ตรวจสอบสถานที่ผลิตโดยละเอียดภายในวันนี้ เพราะอาจมีผลกระทบด้านสุขภาพ เนื่องจากแก๊สแอมโมเนีย (Ammonia, NH) สามารถทำลายสุขภาพได้ในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัส และวิธีที่ร่างกายได้รับแก๊สเข้าไป"
โดยผลกระทบต่อสุขภาพ มีดังนี้
1.ผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ หากสูดดมในปริมาณน้อย อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อจมูก คอ และปอด หากมีความเข้มข้นสูง อาจทำให้เกิด ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หายใจลำบาก ปอดบวมน้ำ อาจเกิดอาการไอ สำลัก แน่นหน้าอก และหายใจติดขัด
2.ผลกระทบต่อดวงตาและผิวหนัง เพราะแอมโมเนียมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง หากสัมผัสกับดวงตา อาจทำให้ตาแดง น้ำตาไหล เจ็บปวด และรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ โดยเมื่อสัมผัสกับผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการ ไหม้ แสบ แดง พุพอง หรือ เป็นแผลลึก
3.ผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร (หากกลืนกิน) ทำให้เกิดแผลไหม้ในปาก คอ หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร อาจมีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียน หรือเลือดออกภายใน
4.ผลกระทบต่อระบบประสาท และร่างกายโดยรวม โดยการสัมผัสแอมโมเนียในระดับสูง อาจทำให้เกิด เวียนหัว ปวดหัว สับสน อ่อนเพลีย หากได้รับในปริมาณที่เป็นพิษ อาจทำให้หมดสติ ชัก และถึงแก่ชีวิต
สำหรับข้อควรปฏิบัติเมื่อสัมผัสแอมโมเนีย ให้ออกห่างจากบริเวณที่มีแก๊สทันที และสูดอากาศบริสุทธิ์ โดยหากสัมผัสผิวหนัง หรือดวงตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที หากมีอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ได้เน้นย้ำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างเต็มที่ โดยให้โรงพยาบาลในพื้นที่ เตรียมสนับสนุนอุปกรณ์ และบุคลากรให้พร้อม รวมถึงให้ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในบริเวณใกล้เคียงด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และไม่มีผลกระทบด้านสุขภาพแต่อย่างใด