ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ที่จะถึงนี้ ผู้เขียนได้รับเชิญให้เป็นผู้นำเสนอและนำการอภิปรายในหัวข้อ "Integrating EV charging with renewable energy: Policies and implementation" ในงาน EV Charge Live Thailand 2025 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC)
ประเด็นสำคัญที่จะพยายามชวนให้ผู้ร่วมงานคิดมี "กฎหมาย" เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนเป้าหมายและนโยบาย การพัฒนาและใช้งานโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ EV เข้ากับโครงการเมืองอัจฉริยะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของพลังงาน การจัดการจราจร และคุณภาพชีวิตของประชาชน การบูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดและอัจฉริยะ
อย่างไรก็ตาม "โครงสร้างพื้นฐานในบริบทนี้" มีความหมายอย่างไร เป็นเพียงระบบการอัดประจุทางกายภาพหรือควรหมายรวมถึงระบบหรืออุปกรณ์ที่รองรับการเก็บรวบรวม และประมวลผลข้อมูลเพื่อรองรับการชาร์จไฟฟ้าและการใช้งาน EV ในเมืองอัจฉริยะด้วย ? ระบบกฎหมายไทยรองรับการลงทุนเพื่อพัฒนาและใช้งานโครงสร้างพื้นฐานลักษณะนี้และมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการใช้งานหรือไม่ ?
*การชาร์จแบบธรรมดากับการชาร์จแบบอัจฉริยะต่างกันอย่างไร ?
ตามที่ได้อธิบายใน Power of the Act ใน EP ก่อน "เมืองอัจฉริยะ" หมายความว่า เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีมิติการพัฒนาได้หลายด้าน
ในมิติของการเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ตาม ประกาศคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่ 1/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมิน และคุณสมบัติ วิธีการ และกระบวนการในการพิจารณาคุณสมบัติของเมืองอัจฉริยะ ข้อ 2(3) เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ความเป็น "เมืองอัจฉริยะ" สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเครื่องมือที่จะใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาการเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ คือ "แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง" หรือ City Data Platform (CDP) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสมองของเมือง โดย CDP จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลจากหลากหลายด้าน ซึ่งจะช่วยให้เมืองตอบสนองต่อความต้องการอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งมอบบริการที่ดีขึ้น รวมถึงการตอบสนองต่อวิกฤตต่าง ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
แพลตฟอร์มข้อมูลเมืองจะทำงานได้ต้องอาศัย "ข้อมูล" โดย CDP จะทำงานควบคู่โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากระบบให้บริการการอัดประจุของสถานีอัดประจุแต่ละแห่งและนำมาวิเคราะห์ประมวลผล ซึ่งจะมีประโยชน์ในแง่ของพลังงาน แพลตฟอร์มยังช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (Peak) โดยเลี่ยงการชาร์จไฟของผู้ใช้รถ EV ไม่ให้ตรงกับช่วงเวลา Peak ของการใช้ไฟฟ้าด้านอื่น ๆ (ซึ่งเป็นข้อมูลที่ CDP เก็บมาจากโครงการอื่น) ทั้งยังทำให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และช่วยประหยัดรายจ่ายของผู้ขับขี่ได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบชาร์จแบบปกติที่ไม่ได้ทำงานร่วมกับ CDP
ในแง่ของการจราจร การรวบรวมข้อมูลความหนาแน่นของปริมาณรถ EV และ จุดอัดประจุที่อยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ของเมืองโดยนำมาวิเคราะห์และประมวลผลว่า ควรติดตั้งจุดอัดประจุเพิ่มในจุดใดเพิ่มเติม เพื่อลดความหนาแน่นจากการใช้งานสถานีอัดประจุเดิมลง รวมถึงลดความหนาแน่นของสภาพการจราจร ซึ่งประโยชน์ทั้งสองแง่ดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
กล่าวคือเมื่อ มีการบริหารจัดการไฟฟ้าที่ดีทำให้ไฟฟ้าในเมืองดับน้อยลงหรือไม่ดับเลย ส่งผลให้โรงพยาบาลหรือกิจการที่ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องไม่ขัดข้อง หรือการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผ่านการใช้รถ EV มากยิ่งขึ้นเป็นหนึ่งในวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้คุณภาพของอากาศดีขึ้น
*Smart Charging ที่เข้าใจผู้ใช้งาน EV มากขึ้นต้องการ EVSE และ IoT
เมื่อจำนวนผู้ใช้รถ EV ในปัจจุบันมีมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้รถ EV หลายคันต้องชาร์จไฟในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (Peak) ซึ่งจะทำให้โครงข่ายการจ่ายไฟฟ้าทำงานหนักเกินไป อาจเกิดไฟฟ้าดับได้ และทำให้ผู้ใช้รถ EV เดินทางไปยังสถานีอัดประจุเดียวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้การจราจรติดขัด เมื่อผู้ใช้รถเห็นว่ารถ EV นั้นยังไม่มีความสะดวกเพียงพอ ทำให้แรงจูงใจในการใช้รถ EV น้อยลง จำนวนรถที่ใช้น้ำมันแบบเดิมจึงไม่ลดลง ส่งผลให้คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ก็จะไม่ถูกแก้ไขตามนโยบายของรัฐบาล หากระบบการชาร์จนั้นเข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้น โดยสามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานและผู้ให้บริการได้มากขึ้นแล้วปัญหาข้างต้นก็อาจคลี่คลายลง
Smart Charging ระบบนำเข้าข้อมูล ซึ่งจะนำเข้าข้อมูลจากหลายช่องทาง เช่น ฐานข้อมูล Internet หรือ CCTV โดยมีวิธีการนำเข้าข้อมูลสองประเภท คือ การนำเข้าข้อมูลเป็นชุด ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้ว และ การนำเข้าข้อมูลแบบไหลซึ่งจะเป็นการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ ในบริบทของ อุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ (Electric Vehicle Supply Equipment หรือ EVSE) ก็สามารถมีศักยภาพในการเก็บและส่งข้อมูลได้
California Code of Regulations ได้ให้คำนิยามของ EVSE เอาไว้ว่า หน่วย (Unit) ที่ควบคุม (Controlling) การจัดหาหรือส่งพลังงานไปยังยานยนต์ไฟฟ้าขณะมีการอัดประจุไฟฟ้า โดยเป็นอุปกรณ์ (Device) ซึ่งถูกออกแบบให้มีศักยภาพในการส่งและรับเอาพลังงานไฟฟ้าไปยังหรือจากยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ที่มีศักยภาพในการวัดปริมาณพลังงาน กักเก็บ และรายงานปริมาณพลังงานที่ถูกจ่ายไปยังผู้รับบริการอัดประจุไฟฟ้า และยังหมายถึงอุปกรณ์ที่ส่งข้อมูลเพื่อการเรียกเก็บค่าบริการอีกด้วย
โดยที่ EVSE นั้นยังแบ่งออกได้เป็น "อุปกรณ์ EVSE ที่เชื่อมต่อกับโครงข่าย (Networked EVSP)" ซึ่งหมายถึง EVSE ที่มีศักยภาพในการรับและส่งคำสั่งหรือส่งข้อความจาก EVSP จากระยะไกล และ "อุปกรณ์ EVSE ที่ไม่เชื่อมต่อกับโครงข่าย (Non-Networked EVSP)" ซึ่งหมายถึง EVSE ที่ไม่มีศักยภาพในการรับและส่งคำสั่งหรือส่งข้อความจากผู้ให้บริการอุปกรณ์จากระยะไกล
EVSE เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการชาร์จอัจฉริยะแต่การจะมี EVSE ที่ทำงานร่วมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับความอัจฉริยะของเมืองนั้นจะต้องมีการลงทุนและการ "ดำเนินงาน"
รัฐบาลของประเทศอินเดียได้ตั้งบริษัทให้บริการด้านพลังงาน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ESCO" ชื่อ Energy Efficiency Services Limited (EESL) บริษัทนี้เป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่าง Power Grid Corporation of India Limited NTPC และ REC
EESL มีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนและลงมือประกอบกิจการในโครงการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและรับผิดชอบในการดำเนินการตาม National Action Plan on Climate Change ของประเทศ ทั้งนี้ Asian Development Bank (ADB) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าธนาคารได้ให้การสนับสนุนทางการเงินโดยการให้ EESL กู้เงินสำหรับโครงการของบริษัทในการทำให้การให้แสงสว่างที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลง (ในท้องถิ่นใช้ระบบแสงไฟที่ทำงานด้วยการควบคุมระยะไกล) ในปี ค.ศ. 2019 EESL ร่วมกับคู่ค้าเอกชนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ Apollo Hospitals Enterprises กำหนดว่า EESL จะลงทุนสร้าง ใช้งานและบำรุงรักษาสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสิ่งปลูกสร้างของโรงพยาบาล ซึ่งอาจมีจำนวนถึง 100 สถานี
รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับการชาร์จแบบอัจฉริยะโดยได้เผยแพร่ "Handbook for Electric Vehicle Charging Infrastructure Implementation" ซึ่งอธิบายว่า EVSE นั้นมีศักยภาพที่จะถูกตั้งโปรแกรมให้ตอบสนองโดยอัตโนมัติต่อสัญญาณเกี่ยวกับค่าบริการจากผู้ให้บริการระบบจำหน่ายไฟฟ้า ระบบการบริหารจัดการส่วนกลาง เพื่อการใช้งานร่วมกับระบบการคิดค่าไฟฟ้าตามเวลาของวัน (Time-of-Day "TOD") และการคิดค่าไฟฟ้าตามเวลาดังกล่าว
คู่มือดังกล่าวยังอธิบายต่อไปว่า EVSE ยังสามารถถูกตรวจสอบและบริหารจัดการผ่านแอปพลิเคชั่น โดยออกแบบให้ทำงานร่วมกับบริการเสริมที่รองรับการรับส่งข้อมูล (General Packet Radio Services) การเชื่อมต่อผ่านสายสัญญาณ 3G หรือ 4G และเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ โดย EVSE นั้นสามารถ "แชร์" ข้อมูลเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ากับระบบการชาร์จ การชาร์จอัจฉริยะนั้นจะต้องอาศัยการสื่อสารในหลายระดับ เช่นการสื่อสารระหว่าง EVSE กับระบบการอัดประจุไฟฟ้าและเครือข่ายในการชาร์จ และระบบการบริหารจัดการส่วนกลาง เรียกได้ว่าความอัจฉริยะนั้นต้องอยู่บนฐานของการ "สื่อสาร" และ "ปฏิสัมพันธ์" ของอุปกรณ์การชาร์จ รวมถึงพฤติกรรมการชาร์จ และระบบชาร์จ
SYNOX ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้ระบบการเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet of Things หรือ "IoT") ซึ่งได้ให้คำอธิบายว่าการชาร์จ EV แบบอัจฉริยะในเมืองอัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องอาศัยการทำงาน IoT เนื่องจาก IoT ทำให้ระบบการบริหารจัดการการชาร์จจากระยะไกลทำงานได้ โดยผู้บริหารจัดการปริมาณการจราจรจะสามารถติดตามและควบคุมการจราจรตามเวลาในปัจจุบัน (Real-Time Monitoring)
ระบบ Real-Time Monitoring จะถูกใช้งานผ่าน IoT เพื่อแสดงถึงสถานะของสถานีอัดประจุในเมือง โดยแสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นในการเข้ารับบริการ ตลอดจนปัญหาทางเทคนิคที่กำลังเกิดขึ้น การมีข้อมูลนี้จะช่วยให้การให้บริการชาร์จมีความมั่นคงแน่นอน ต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก นอกจากนี้ IoT ยังช่วยในเรื่องของการคาดหมายเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงได้ โดยการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทำให้สามารถคาดการณ์ความต้องการในการบำรุงรักษาได้ก่อนจะเกิดปัญหาและสามารถช่วยให้ป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการชาร์จได้อีกด้วย
*การลงทุนและประกอบการโดย "บริษัท" ซึ่งมีความร่วมมือกับรัฐบาล
การก่อสร้างและใช้งาน "ตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า" ที่รองรับการชาร์จแบบอัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องมีการลงทุน เช่นเดียวกันการจะใช้งาน IoT นั้นก็จะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบและการใช้งาน ตลอดจนบำรุงรักษา จะเห็นได้ว่า การให้และใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า การบริหารจัดการจราจร และการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับ EV ในเมืองอัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องมีการสื่อสาร แลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
เพื่อตอบสนองความท้าทายดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาและใช้งาน "โครงสร้างพื้นฐาน" นั้นจะมีทั้งส่วนที่เป็นการก่อสร้างทางกายภาพ เช่น การสร้างแท่นอัดประจุไฟฟ้าหรือการสร้างและใช้งานระบบสายสื่อสาร และจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในส่วน "ดิจิทัล" อีกด้วย หากรัฐจะให้เอกชนช่วยลงทุนแล้วก็เป็นไปได้ว่าจะมีทั้งโครงการร่วมลงทุนแบบเดิมและ "Digital Public Infrastructure" และมีความเป็นไปได้ที่จะมี "Digital Public-Private Partnership" ซึ่ง UNDP ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า "Digital Public Infrastructure ("DPI")" นั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลและ "ช่วยให้การให้บริการสาธารณะ" มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คำถามที่เกิดขึ้นคือระบบกฎหมายไทยรองรับการดำเนินโครงการร่วมลงทุนให้มี DPI สำหรับการชาร์จ EV แบบอัจฉริยะในเมืองอัจฉริยะหรือไม่ ? ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 นั้น "โครงการ" หมายความว่า โครงการลงทุนของรัฐในกิจการที่หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือหลายหน่วยงานรวมกันมีหน้าที่และอำนาจต้องทำตามกฎหมายหรือกฎ หรือที่มีหน้าที่และอำนาจต้องทำตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ส่วน "ร่วมลงทุน" หมายความว่า ร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใด หรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด
เป็นไปได้ที่หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการจะมอบสิทธิให้บริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญและมีทุนลงมือดำเนินการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าในเมืองอัจฉริยะ (เทียบเคียงกับบทบาทของ EESL ในประเทศอินเดีย) และให้บริษัทดังกล่าวพัฒนาและใช้งานระบบ IoT เพื่อรองรับการทำงานของ EVSE ซึ่งอาจเป็นของตัวผู้ใช้งาน EV หรือบริษัทผู้จำหน่าย EV โดยบริษัทเอกชนนี้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการและอาจแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจากการเรียกเก็บค่าบริการจากการใช้สถานีอัดประจุ การใช้งานระบบ IoT ตลอดจนการประมวลผลข้อมูล หากรูปแบบการดำเนินโครงการมีลักษณะนี้ก็ "เป็นไปได้" ที่จะเรียกว่าเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน Public-Private Partnership (PPP)
อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการตามกฎหมายนั้นหน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เนื่องจากหากกฎหมาย "ไม่เปิดช่อง" แล้ว การดำเนินโครงการตามกฎหมายก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ตามความในมาตรา 7 มิได้ให้คำนิยามว่า "โครงสร้างพื้นฐาน" และ "บริการสาธารณะ" มีนิยามอย่างไรแต่ระบุให้โครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะซึ่งรวมถึง "การขนส่งทางถนน" "การพลังงาน" "การโทรคมนาคม" "การสื่อสาร" และ "กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย" ให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้เขียนมีความเห็นว่า สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีศักยภาพรองรับการสื่อสารหลายทิศทางโดยทำงานร่วมกับระบบการบริหารจัดการจราจรของเมืองซึ่งทำงานร่วมกับ CDP ผ่านระบบ IoT โดยระบบและอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องทำงานร่วมกับ EVSE ซึ่งส่งและรับข้อมูลได้แล้ว ทั้ง Hardware และ Software เหล่านี้ควรถือได้ว่าเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการให้บริการชาร์จ EV แต่เป็นบริการแบบอัจฉริยะ หากดำเนินโครงการภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก็จะมีการเสนอโครงการ มีการกลั่นกรอง และดำเนินโครงการตามกรอบที่กฎหมายกำหนด
โดยสรุป การผนวกรวมโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ EV ที่มีศักยภาพรองรับความอัจฉริยะเข้ากับเมืองอัจฉริยะนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพโดยการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และทำให้เมืองนั้นมีคุณภาพด้านการขนส่งและการจราจรที่ดีขึ้นส่งผลให้ปริมาณผู้ใช้รถยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น อีกทั้งส่งเสริมความเป็น Smart City ของเมือง
อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของโครงการ PPP ซึ่งมี DPI เป็นเนื้อหาโครงการ และมีการชาร์จแบบอัจฉริยะเป็นเป้าหมายแล้ว รัฐจะต้องสร้างความชัดเจนเสียก่อนว่าการดำเนินโครงการลักษณะนี้จะตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือไม่ ?
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย