กลายเป็นประเด็นร้อนระหว่างพรรคประชาชน และสำนักงานประกันสังคม หลังน.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับใช้การงบประมาณหลาย ๆ เรื่อง ทั้งการบินไปดูงานต่างประเทศ การจัดทำปฏิทินของสำนักงานประกันสังคม แม้ว่าทางนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน จะได้ออกมาชี้แจงแล้วก็ตาม
แต่ น.ส.รักชนก ยังได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเพิ่มเติม ในอีก 3 ประเด็น ดังนี้
- ประเด็นที่ 1: ทำไมสิทธิประกันสังคมที่บังคับจ่ายเงินทุกเดือน ถึงแย่กว่าสิทธิบัตรทอง หรือสิทธิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ได้ฟรี?
น.ส.รัชนก ระบุว่า เนื่องจากประกันสังคม ประกอบด้วย บอร์ดใหญ่ และบอร์ดเล็ก โดยบอร์ดใหญ่มาจาก 3 ฝ่าย และบางส่วนมาจากการเลือกตั้ง แต่บอร์ดเล็ก มาจากการแต่งตั้งจากอำนาจของรัฐมนตรีแรงงาน โดยบอร์ดเล็กมี 3 บอร์ด หนึ่งในนั้นคือ บอร์ดแพทย์ ปัญหาอยู่ตรงที่บอร์ดเล็กมีอำนาจมาก แต่ที่มาไม่ได้ยึดโยงกับผู้ประกันตน
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกันตนที่สงสัยว่า ?ทำฟันได้ 900 บาท รับยาใกล้บ้านก็ไม่ได้ จ่ายแพง แต่คุณภาพแย่? ใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนทำ ก็คือบอร์ดแพทย์เป็นคนเคาะว่า ประกันสังคมจะให้สิทธิผู้ประกันตนรักษาอะไรได้เท่าไหร่บ้าง เป็นผู้กำหนดทิศทางเงิน 70,000 ล้านบาท/ปี ว่าจะถูกใช้ไปกับโรคไหน ใช้ได้กี่บาท
โดยผลงานที่ผ่านมา ก็คือ ความล้าหลังของสิทธิการรักษาของประกันสังคม แย่กว่าสิทธิบัตรทอง มีคนตั้งฉายาว่า เป็น ?บอร์ดอีแอบ? เพราะเมื่อก่อนไม่รู้ว่าใครนั่งบอร์ดนี้บ้าง ไม่มีการเปิดเผยชื่อว่าใครนั่งอยู่ในบอร์ดแพทย์บ้าง เพิ่งปรากฏครั้งแรกบนเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 68
"อยากขอให้เปิดชื่อย้อนหลังด้วยว่า ตั้งแต่มีบอร์ดแพทย์มา ใครนั่งบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า บอร์ดแพทย์ก็ขอโครงการไปดูงานทุกปีเช่นกัน ซึ่งบางปีไปดูงานสถาบันทางการเงินด้วย ไปทำไม ดูทุกปีไม่มีเว้น แต่สิทธิรักษาล้าหลังบัตรทองตลอด และที่ผ่านมาบอร์ดแพทย์ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับตำแหน่งที่ทำอยู่หรือไม่ วิจัยเอง ทำคลินิกเอง อนุมัติโครงการเอง มีแบบนั้นหรือไม่" น.ส.รักชนก ระบุ
อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งบอร์ดแพทย์รอบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รมว.แรงงาน จะไม่กีดกันสัดส่วนจากผู้ประกันตน เพียงเพราะว่าสำนักงานประกันสังคมถูกแฉเรื่องการใช้งบประมาณที่ไม่โปร่งใส เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ผู้ประกันตนคงจะโกรธไม่น้อย
- ประเด็นที่ 2: การทำ Web App เพื่อบริหารจัดการหลังบ้าน 850 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการทำ Web App มีพิรุธ ดังนี้
บริษัท 2 แห่งที่มาประมูล เสนอราคาต่างกันเพียง 300,000 บาท คือที่ 848,888,000 และ 848,500,000 บาท ถามใครที่ไหนก็ว่าแปลก ว่าอาจเข้าข่ายฮั้วหรือไม่
ราคาของทั้ง 2 บริษัท เรียกได้ว่าชิดราคากลางแบบแทบไม่ต่างเลยด้วยซ้ำ จึงตั้งคำถามว่า หรือแท้จริงแล้วทั้ง 2 บริษัทรู้ราคากลาง โครงการนี้ส่งงานช้า 193 วัน ต้องจ่าย 163 ล้าน แต่กลับไม่ถูกปรับสักบาท ค่าเมนเฟรมจ่ายทุกเดือนอีกอย่างน้อย 84 ล้าน ปัจจุบันเซ็นรับงาน แต่ตรวจรับไม่ได้ ใช้งานไม่ได้ สร้างความลำบากให้ข้าราชการตัวเล็กตัวน้อย
"จะบอกว่าปฏิทินปีละ 70 ล้านบาท เป็นเรื่องเล็กก็คงใช่ เพราะมีโครงการที่กลิ่นเหม็นกว่านี้ แพงกว่านี้ คือการทำ Web App เพื่อบริหารจัดการหลังบ้าน 850 ล้านบาท อยากให้รมว.แรงงาน มาตอบ หรือถ้าตอบไม่ได้ให้ลองถามนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน"
- ประเด็นที่ 3: ข้อมูลงบประมาณย้อนหลัง 5 ปี
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามงบฯ เคยขอชวเลขที่พิจารณากลั่นกรองงบประมาณย้อนหลัง 5 ปี ประกันสังคมไม่มีใครรู้อะไรเลยว่า ที่ผ่านมาคุยอะไรกัน ใครพูดเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ใครพูดเพื่อผู้ประกันตน ซึ่งแจ้งว่าที่ไม่ให้เพราะว่ามีชื่อ ถ้ากังวลแค่นั้นปิดชื่อแล้วส่งมาเลยก็ยังได้
น.ส.รักชนก ระบุว่า เงินที่เราประหยัดได้ 1 ล้านบาท จากโครงการที่บอกว่า?หยุมหยิม? ถ้าเอาไปลงทุนผลตอบแทน 5% ต่อปี ผ่านไป 30 ปี จะกลายเป็น 4.32 ล้านบาท ลองคิดดูว่าถ้าประหยัดได้ 100 ล้าน 10,000 ล้านบาท จะเป็นเงินมหาศาลขนาดไหน
"รากฐานโครงสร้างปัญหาเรื้อรัง ที่ทำให้กองทุนประกันสังคมทำงานได้แค่ ?ตามระเบียบ ตามกฎหมาย? แต่บริหารเงินแบบไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ประกันตนได้ และสุดท้ายกองทุนจะเจ๊ง" น.ส.รักชนก ระบุ