ทัวร์ลงฉ่ำ!! ไอเดียปลูกกล้วยแทนข้าว ชาวเน็ตวิจารณ์สนั่น

ข่าวทั่วไป Friday March 7, 2025 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คอมเมนต์ในโซเชียลหลั่งไหล หลังนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ไปตอบกระทู้ของฝ่ายค้านในสภากรณีราคาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ ด้วยการเสนอไอเดียให้ปลูกกล้วยแทนทำนา
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ในเมื่อข้าวเป็นสินค้าควบคุม ทำไมนายพิชัย ไม่ใช้อำนาจไปควบคุมราคาข้าวเปลือก เพื่อช่วยชาวนาโดยเอากำไรจำนวนมากของราคาข้าวสารในประเทศ มาคืนให้กับราคาข้าวเปลือกของชาวนา เชื่อว่าชาวนาจะขายข้าวเปลือกได้ตันละ 10,000 บาท โดยไม่ต้องไปปลูกกล้วย และไม่ต้องใช้ภาษีมาอุ้มราคาข้าวเปลือกด้วย

พร้อมได้ยกข้อมูล ประกอบด้วย

1.ข้าวเปลือกราคาถูก แต่ทำไมข้าวสารที่คนไทยบริโภคในประเทศราคาแพง นายพิชัย เข้าใจความสัมพันธ์ ของราคาข้าวเปลือกกับราคาข้าวสารในประเทศไหมว่า...มีความไม่ปกติเกิดขึ้น คือฝ่ายพ่อค้าข้าวสารรวยมาก แต่ชาวนาขายข้าวเปลือกมีแต่จนกับจน

2.ข้อมูลในปี 2566 ปริมาณต้องการข้าวสารที่ใช้ในประเทศประมาณ 60% เศษ หรือประมาณ 13.3 ล้านตัน ของปริมาณข้าวสารทั้งหมด และในปี 2568 - 2569 ความต้องการข้าวสารในประเทศ คาดว่าประมาณ 14.2-14.6 ล้านตัน มีแนวโน้มสูงขึ้น

3.ไม่ว่าราคาตลาดโลกผันผวน เพราะอินเดียส่งออก แต่ราคาข้าวสารในประเทศไม่เคยถูกลง มีแต่ราคาจะขยับตัวสูงขึ้น

ด้านนายพิชัย ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายให้เปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นการปลูกกล้วย โดยในระยะสั้น รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาโดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มาจากชาวนา เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ ขณะที่ในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลเร่งพิจารณาแนวทางเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยการวางระบบการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพตลาดและศักยภาพของแต่ละพื้นที่

ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการกระตุ้นราคาข้าว ทั้งการเจรจากับประเทศผู้ส่งออก เช่น อินเดียและเวียดนาม เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาตลาดโลก รวมถึงการทำข้าวถุงขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด เพื่อช่วยดูดซับปริมาณข้าวในตลาดและพยุงราคา รัฐบาลต้องการให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว โดยไม่เพียงแต่ช่วยเหลือในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำเท่านั้น แต่ต้องวางรากฐานให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นผ่านการพัฒนาผลผลิตและการขยายตลาดส่งออก

ส่วนการกล่าวถึงการปลูกกล้วยเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกล้วยญี่ปุ่นที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายให้ชาวนาเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปปลูกกล้วยทั้งหมด แต่เป็นการเสนอทางเลือกเพิ่มเติมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีการทดลองปลูกกล้วย 150,000 ต้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเห็นถึงโอกาสในตลาดต่างประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นกล้วยทั้งหมด

"ไม่ได้เปลี่ยนจากปลูกข้าวเป็นปลูกกล้วย แต่หมายถึงว่าที่ไหน บริเวณไหน ปลูกกล้วยได้แล้วได้ราคาสูง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ก็ปลูก ไม่ได้ว่าให้เปลี่ยนอย่างนั้น แค่คิดก็ผิดแล้ว เพียงให้เป็นทางเลือกกับเกษตรกรที่จะปลูก" นายพิชัย กล่าว

กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า การพูดถึงพืชทางเลือก เช่น กล้วย หรือพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เป็นเพียงแนวทางในการเพิ่มโอกาสให้เกษตรกร แต่ไม่ได้มีนโยบายให้เปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นกล้วยทั่วประเทศ ข้าวยังคงเป็นพืชหลักของประเทศไทย และรัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชาวนามีรายได้ที่มั่นคง

*เปิดข้อมูลปริมาณ-มูลค่าการส่งออกกล้วยหอมปี 65-67

จากข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร รายงานปริมาณและมูลค่าการส่งออกกล้วยหอมในปี 65-67 ดังนี้

  • ปี 65 ไทยส่งออกกล้วยหอมไปยังตลาดโลกรวม 3.38 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อันดับ 1 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น ปริมาณ 2.46 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อันดับ 2 ส่งออกไปจีน ปริมาณ 7.43 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 3.78 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ

อันดับ 3 ส่งออกเมียนมา ปริมาณ 8.93 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 4.21 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ

  • ปี 66 ไทยส่งออกกล้วยหอมไปยังตลาดโลกรวม 1.52 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อันดับ 1 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น ปริมาณ 1.31 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อันดับ 2 ส่งออกไปจีน ปริมาณ 5.90 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 1.27 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ

อันดับ 3 ส่งออกกัมพูชา ปริมาณ 4.71 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 3.86 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ

  • ปี 67 ไทยส่งออกกล้วยหอมไปยังตลาดโลกรวม 1.73 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อันดับ 1 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น ปริมาณ 1.48 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อันดับ 2 ส่งออกไปกัมพูชา ปริมาณ 8.12 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 6.70 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ

อันดับ 3 ส่งออกเมียนมา ปริมาณ 1.37 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 4.57 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่โลกโซเชียลมีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง อาทิ

  • พาณิชย์ไม่ทราบหรือว่าที่นามันคือที่ลุ่ม ฤดูฝนคันนาสูงร่วมเมตรน้ำยังท่วม เจอน้ำขนาดนั้นมีหวังกล้วยร้องว้า ที่ดอนปลูกพืชไร่ได้ ที่ลุ่มเขาจึงปลูกข้าว
  • ชาวนาที่ทำนาปรังทำไมเขาถึงทำนาปรัง เพราะพื้นที่ทำการเกษตรอย่างอื่นไม่ได้ น้ำมันท่วม ปลูกกล้วยใช้เวลาเป็นปีกว่าจะได้ผลผลิต
  • ปลูกกล้วยขายญี่ปุ่น แล้วนำเข้าข้าวจากเมียนมา เวียดนามแทน
  • ปลูกกล้วย ไม่ง่ายอย่างที่คิด ยากยิ่งกว่าทำนาอีก
  • เอานามาปลูกกล้วย น้ำก็ท่วมตายหมด
  • ถ้าชาวบ้านปลูกกล้วย รัฐบาลจะประกันราคาซื้อหรือรับจำนำดี
  • พอปลูกกล้วยกันมาก ราคาก็ตกอีก รัฐบาลมีมาตการรองรับไว้หรือยัง
  • ถ้ากล้วยราคาตก จะให้ไปปลูกอะไร
  • ข้าวถูกปลูกกล้วย..พอน้ำท่วม บอกให้เลี้ยงปลา
  • การแก้ปัญหาต้องปรับคุณภาพข้าวให้สูงกว่าอินเดียไม่ใช่ปลูกกล้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ