ข่าวปลอม! เช็คสิทธิ์ "เงินหมื่นเฟส 3" โอนตามลำดับเลขท้ายบัตรประชาชน

ข่าวทั่วไป Saturday March 8, 2025 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข่าวปลอม! เช็คสิทธิ์

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 824,742 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 435 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 432 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 3 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 145 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 53 เรื่อง

ข่าวปลอม! เช็คสิทธิ์

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 67 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 41 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 10 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 3 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 24 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับโครงการของรัฐ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กองทุนประกันสังคม การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ ปรากฎการณ์ธรรมชาติ และเรื่องสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ รวมทั้งอาจเกิดความเสียหายต่อข้อมูลส่วนบุคคล และทรัพย์สิน โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3! โอนตามลำดับเลขท้ายบัตรประชาชน เช็กสิทธิ์ด่วน!

อันดับที่ 2 : เรื่อง ออมสินปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือครอบครัว ครอบครัวละ 100,000 บาท ผ่อนนาน 60 เดือน

อันดับที่ 3 : เรื่อง ประกันสังคมวิกฤติ! เก็บเงินคนไทยเดือนละ 18,472 ล้าน แต่กองทุนเสี่ยงล้มละลาย!

อันดับที่ 4 : เรื่อง ประกันสังคม เพิ่มค่าทำฟันจาก 900 บาท เป็น 1,200 บาท

อันดับที่ 5 : เรื่อง หากพบฝูงปลาจำนวนมากขึ้นฝั่งบนชายหาด หมายความว่า อาจจะเกิดสึนามิ

อันดับที่ 6 : เรื่อง อาบน้ำรุนแรง-ใช้น้ำร้อนจัด เสี่ยงเส้นเลือดสมองตีบ อัมพาตได้!

อันดับที่ 7 : เรื่อง รับทำใบขับขี่ออนไลน์ทุกชนิดให้คนไทยและคนต่างชาติ ผ่านเพจ รับทำใบขับขี่ออนไลน์

อันดับที่ 8 : เรื่อง ทำใบขับขี่ออนไลน์ ง่าย เร็ว ได้จริง!

อันดับที่ 9 : เรื่อง เปิดให้ลงทะเบียนทำใบขับขี่ออนไลน์ ปี 2568 บัตรออกจากกรมการขนส่งทางบกโดยตรง ทำได้ทั่วประเทศ

อันดับที่ 10 : เรื่อง ใบขับขี่ออนไลน์ บัตรออกจากกรมขนส่งโดยตรง ทำได้ทั่วประเทศ

"เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโครงการของรัฐ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัล วอลเล็ต กองทุนประกันสังคม การให้บริการทำใบขับขี่ของกรมขนส่งทางบก เรื่องปรากฎการณ์ธรรมชาติ และเรื่องของสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน โดยในส่วนของข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต กองทุนประกันสังคม และการให้บริการทำใบขับขี่ออนไลน์นั้น ขอให้ประชาชนระมัดระวัง การแอบอ้างของมิจฉาชีพ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล และทรัพย์สินได้ โดยหากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม มีผลทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง" นายเวทางค์ กล่าว

สำหรับอันดับ 1 เรื่อง "เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3! โอนตามลำดับเลขท้ายบัตรประชาชน เช็กสิทธิ์ด่วน!" กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 ตามเลขบัตรประชาชน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เม.ย. 68) ซึ่งปัจจุบันรัฐบาล ได้ดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขั้นตอนของกลุ่มผู้สูงอายุ และอยู่ในช่วงการจ่ายเงินซ้ำสำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ แต่ไม่สามารถรับเงินได้ในครั้งแรก และขอย้ำเตือนว่า ยังไม่มีโครงการ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3" และไม่มีการจ่ายเงินตามเลขท้ายบัตรประชาชนแต่อย่างใด

ในส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง "ออมสินปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือครอบครัว ครอบครัวละ 100,000 บาท ผ่อนนาน 60 เดือน" กระทรวงดีอี ประสานงานร่วมกับธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่าธนาคารออมสิน ไม่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อช่วยเหลือครอบครัว ครอบครัวละ 100,000 บาท ผ่อนนาน 60 เดือน โดยบัญชีที่เผยแพร่ข่าวดังกล่าว เป็นบัญชีปลอมของมิจฉาชีพ ซึ่งได้แอบอ้างชื่อและโลโก้ของทางธนาคารไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ และอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวโดยเด็ดขาด

"ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดความวิตกกังวล หรืออาจสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด" นายเวทางค์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ