
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้แถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า ได้รับรายงานสถานการณ์จากทุกฝ่ายแล้วว่า ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ขอแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบว่า ตึกที่ได้รับความเสียหายคือตึกที่ก่อสร้าง จากการได้พูดคุยกับวิศวกรและกรมโยธาแล้ว ทราบว่า ตึกต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครมีการสร้างได้มาตรฐาน หากมีแผ่นดินไหวที่แรงกว่านี้ก็ยังสามารถรับได้ แต่ทุกตึกตอนนี้ให้มีการตรวจสอบความพร้อมว่ามีอะไรเสียหายบ้าง ซึ่งตอนนี้ก็ได้เข้าที่พักกันได้ทั้งหมดแล้ว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับตึกที่ปัญหา เป็นตึกที่กำลังก่อสร้าง ทั้งในเรื่องความแข็งแรงและตัวผนัง โดยได้รับรายงานจากอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า เหตุเกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.20 ศูนย์กลางอยู่ที่มัณฑะเลย์ เมียนมา โดยมี After Shock หลายๆ รอบติดตามมา ซึ่ง After Shock ตอนนี้ประมาณ 12 ครั้งแล้ว โดยมีความแรงอยู่ที่ 7.2 ทำให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนไทย ทั้งในภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร แต่ได้รับรายงานว่า จนถึงปัจจุบัน ความแรงลดลงอยู่ที่ 4.9 ริกเตอร์ ซึ่งต่ำกว่าเส้นอันตราย คือ 6 ริกเตอร์ ทำให้ไทยได้รับผลกระทบที่น้อย และขอย้ำว่า เป็นการเกิดแผ่นดินไหวบนบก ไม่ได้เกิดบนทะเล ดังนั้นจึงไม่เกิดมีสึนามิแน่นอน
นอกจากนี้ ได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงเหตุการณ์ที่อาคารก่อสร้างว่าเป็นอาคารก่อสร้างในพื้นที่เขตจตุจักร ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นจุดเดียวที่ได้รับผลกระทบเสียหาย ยืนยันว่าความเสียหายรุนแรงมีจำกัด มีแค่อาคารที่ก่อสร้างเท่านั้น ขอให้ความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งปัจจุบันนี้ อาคารโดยทั่วไปในกทม. มีมาตรฐานที่ดี โดยสาเหตุของการถล่มในตึกดังกล่าว กรมโยธาธิการ จะตรวจสอบต่อไป
สำหรับการเดินทางทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT อยู่ในระหว่างการตรวจสอบความปลอดภัย คาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงเช้า โดยกระทรวงคมนาคม ได้จัดเตรียม รถโดยสารสาธารณะ เพิ่มรอบให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่คืนวันนี้จนถึงช่วงเช้า (29 มี.ค. 68) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเดินทาง
ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิด สวนสาธารณะหลายแห่งเพื่อให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับประชาชนที่ยังรู้สึกไม่มั่นใจในการกลับเข้าที่พัก พร้อมจัดเตรียม น้ำดื่มและอาหาร ให้บริการในจุดต่าง ๆ ได้แก่ สวนลุมพินี สวนเบญจสิริ สวนเบญจกิติ สวนจตุจักร
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่าเหตุการณ์ After shock ครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบในระดับรุนแรง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในอาคารสูงที่ไม่ได้รับความเสียหายสามารถกลับเข้าพักอาศัยได้ แต่หากบ้านพักหรือคอนโดใด ยังมีความกังวล สามารถแจ้งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ รวมถึงสามารถติดต่อกรมโยธาธิการและผังเมืองซึ่งมีวิศวกรที่ลงทะเบียนกว่า 2,000 คน พร้อมที่จะตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารอย่างเต็มกำลัง
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ NBT และ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ปภ.) โดยในภาพรวมของประเทศจะอยู่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ปภ.) และกรุงเทพมหานครจะมีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่เสาชิงช้า ขณะนี้ภาครัฐได้ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นประชาชนสามารถติดต่อภาครัฐได้ ทุกหน่วยพร้อมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจพื้นที่โดยรอบอาคารถล่มที่บริเวณจตุจักร ล่าสุดเจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเร่งดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในอาคารที่ถล่ม โดย นายกรัฐมนตรีขอให้ระดมทุกฝ่ายร่วมช่วยเหลือผู้ติดอยู่ภายในซากอาคาร อย่างเต็มที่ ขณะเดียวก็ขอให้เจ้าหน้าปฏิบัติ ด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงความปลอดภัยตนเองสูงสุดด้วย
*สธ.พบ รพ.17 แห่งรับผลกระทบแผ่นดินไหวส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือ Emergency Operations Center (EOC) เพื่อรับมือสถานการณ์แผ่นดินไหว มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมพร้อมรายงานสถานการณ์ เบื้องต้นพบว่ามีโรงพยาบาลใน 17 จังหวัด ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว มีรอยร้าวของตึก แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตึก และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งมีการรายงานการตั้งโรงพยาบาลสนามใกล้จุดเกิดเหตุ ประสานงานกันระหว่างทีมกู้ชีพและทีมกูภัย
นายสมศักดิ์ ได้มอบข้อสั่งการให้ที่ประชุม ว่า 1.ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา 2.สำรวจประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งอาคาร อุปกรณ์ ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และคนไข้ โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเตรียมประเมินความเสียหายโครงสร้าง 3.กรณีหมดเหตุอาฟเตอร์ช็อกแล้ว หากอาคารไม่ร้าว หรือเห็นว่ามีความปลอดภัย ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตัดสินใจในการทำแผนนำคนไข้กลับที่เดิม 4.เตรียมความพร้อมทีมแพทย์ออกไปดูแลประชาชนทีได้รับบาดเจ็บตามที่ร้องขอ 5.เตรียมพร้อมโรงพยาบาล บุคลากร เครื่องมือ เวชภัณฑ์ให้มีความพร้อมมากขึ้น 6.จัดทีมประสานงานอำนวยการสั่งการและทีมสื่อสาร โดยมอบหมาย นพ.วีรวุฒิ เป็นโฆษกสื่อสาร 7.เตรียมระบบชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต 8.จัดเตรียมทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ทั้งจากกรมสุขภาพจิต 1,000 คน และจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ดูแล ทั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือญาติผู้บาดเจ็บเสียชีวิต
ภายหลังประชุมแล้วเสร็จ นายสมศักดิ์และคณะได้เดินทางมาบริเวณตึกถล่มที่เขตจตุจักร ตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานและให้กำลังเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสนามสอบถามสถานการณ์ ก่อนที่จะรายงานต่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ระหว่างที่นายกฯ ลงพื้นที่เกิดเหตุ