รัฐบาล ถอดบทเรียนแผ่นดินไหว ยกเครื่องระบบแจ้งเตือนภัยหลังล่าช้า

ข่าวทั่วไป Monday March 31, 2025 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมแก้ไขปัญหาระบบส่งเตือนภัย SMS ล่าช้า โดยได้เน้นย้ำว่า เมื่อเกิดเหตุ ควรจะแจ้งเตือนภายในเวลา 5 นาที ซึ่งการส่ง SMS เป็นหนึ่งในเครื่องมือเชิงรุกในตอนนี้ เพื่อการแจ้งเตือนว่ามีแผ่นดินไหว ยืนยันถึงสถานการณ์ ไม่ให้ประชาชนสับสนเกิดความตื่นตระหนก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้เป็นการถอดบทเรียนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและสามารถปรับปรุงตรงจุดไหนได้บ้าง พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการระบบ Cell Broadcast ให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ได้ช่วงเดือนก.ค.นี้ แต่ในระหว่างนี้หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก เช่น หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกจะต้องมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปดังนี้

1.เปลี่ยนแปลงระบบ SOP (Standard Operating Procedure) ให้สามารถส่งข้อความได้เลยทันทีที่ได้รับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไม่จำเป็นต้องมานั่งวิเคราะห์ข้อความดังลกล่าว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมง และข้อความที่ส่งจะต้องเป็นข้อความที่กระชับ ถูกต้อง และเข้าใจง่าย

2.ในระหว่างที่ Cell Broadcast ยังไม่สมบูรณ์ ให้ใช้ระบบ Virtual Cell Boardcast (CBE) เฉพาะระบบ Android จำนวน 70 ล้านเลขหมายไปก่อน โดย ปภ.จะส่งข้อมูลตรงไปที่ Operator เพื่อแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนได้เลย

3.ส่วนระบบ iOS จำนวน 50 ล้านเลขหมาย ให้ใช้การส่ง SMS แทน โดยให้ ปภ.ส่งตรงไปที่ Operator เพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน

4.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. จะเร่งเจรจากับทาง Apple เพื่อเร่งให้ใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast ได้ชั่วคราว

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ระบบเตือนภัย SMS หรือ Cell Broadcast เป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการแจ้งเตือนภัย แต่รัฐบาลจะมีช่องทางการสื่อสารกับประชาชนผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น LINE Facebook รวมถึงโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจอย่างที่เคยได้สื่อสารในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งทางกรมป้องกันฯ จะส่งให้กับทางสื่อหลักอีกครั้ง นอกจากนี้ กรมประชาสัมพันธ์ได้เริ่มดำเนินการประชาสัมพันธ์เบื้องต้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS เป็นส่วนหนึ่งในการแจ้งเตือน เมื่อ Cell Broadcast มาจะสามารถกระจายการแจ้งเตือนครอบคลุมทุกเลขหมายได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีเสียงแจ้งเตือนดังขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วม หรือพายุ เหมือนกับในต่างประเทศ

ระหว่างนี้ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำแผนและมาตรการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ โดยแบ่งหน้าที่และขั้นตอนอย่างชัดเจน (Flowchart) เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องจัดทำระบบการทำงานหลายรูปแบบ เพื่อรองรับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทั้งระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ รวมทั้งออกแบบการทำงานที่แบ่งตามระดับของความรุนแรงของภัยพิบัติ โดยให้มีการออกแบบการทำงานเพื่อรองรับระบบ Cell broadcast ด้วย และขอกลับมาเสนอแผนงานภายใน 1 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ