ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน Chula the Impact หัวข้อ "จุฬาฯ ระดมคิด ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว: เราจะรับมือและฟื้นตัวได้อย่างไร?" เพื่อหาทางออกในการเตรียมพร้อม รับมือ และแนวทางฟื้นตัวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งสร้างความตื่นตระหนก และส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายด้าน
นายปัญญา จารุศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน แต่ไม่มีใครสามารถบอกได้ล่วงหน้า ขณะที่รอยเลื่อนสะกายเป็นจุดน่ากังวลมากที่สุด เพราะเป็นรอยเลื่อนที่มีขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับในไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังทั่วประเทศ 16 รอย ซึ่งอยู่ในแนวขนานไปกับรอยเลื่อนสะกาย ตั้งแต่ภาคเหนือเรื่อยลงมาจรดภาคใต้ในจังหวัดระนอง โดยพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนพาดผ่านเป็นจุดที่จะมีความเสี่ยง
"ในไทยมีรอยเลื่อนหลายแห่ง ที่เป็นรอยเลื่อนตาบอดที่คาดไม่ถึง หรือรอยเลื่อนอยู่นอกสายตา เช่น ที่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก หรือรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ประชาชนไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าจุดไหนอยู่ในแนวรอยเลื่อน เพราะต้องใช้เครื่องมือทางธรณีวิทยาสำรวจ" นายปัญญา กล่าว
ด้านนายสันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในทางวิทยาศาสตร์ เหตุแผ่นดินไหวยังไม่สามารถระบุวัน เวลา และสถานที่ได้ ทำได้เพียงการประเมินว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวเท่านั้น
"หากมีการประกาศเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า ว่าจะเกิดที่ไหน เวลาใด บอกได้เลยว่านั่นเป็นเฟคนิวส์" นายสันติ กล่าว
ส่วนการเกิดอาฟเตอร์ช็อก จะมีขนาดลดทอนลงมาจากเมนช็อก แต่จะเกิดขึ้นตามมากี่ครั้งขึ้นอยู่กับขนาดของเมนช็อก ที่ผ่านมา เคยมีเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งที่อาฟเตอร์ช็อกเกิดตามมาราว 500 ครั้ง ส่วนเหตุสึนามินั้นจะไม่เกิดขึ้นในแหล่งน้ำจืด เหตุน้ำกระฉอกในสระ เป็นผลพวงจากแผ่นดินไหว
ขณะนี้สถานการณ์อาฟเตอร์ช็อคคลี่คลายลงแล้ว ดังนั้นขอให้ทุกคนควรกลับมาใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็วที่สุด ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นก็ถอดบทเรียนมาเป็นประสบการณ์ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องหาวิธีที่จะเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมา
สำหรับแนวทางปฏิบัติเมื่อประสบเหตุแผ่นดินไหว หลังจากนี้ไปควรมีการฝึกซ้อมอพยพอย่างต่อเนื่อง เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เกิดความวุ่นวายโกลาหล
นายฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี อาจารย์ประจำภาคภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงภาพรวมอาคารสูงที่ก่อสร้างหลังปี 2550 ส่วนใหญ่ได้มีการคำนวณเรื่องมาตรการป้องกันผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวไว้แล้ว แต่ที่ผ่านมา อาจถูกละเลยไปบ้าง อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะเป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีมาตรการดูแลและตรวจสอบการก่อสร้างให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น
สำหรับการซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายนั้น ควรเป็นไปตามหลักวิศวกรรมอย่างแท้จริง ไม่สามารถนำวัสดุก่อสร้างไปพอกเสริมเพื่อให้โครงสร้างเกิดความแข็งแรงได้
นางอังคณาวดี ปิ่นแก้ว อาจารย์ประจำภาคคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงกรณีอาคารของส่วนราชการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่มว่า ถ้าไปดูในสัญญาว่าจ้าง จะระบุรายละเอียดเอาไว้ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ต้องรอพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากเหตุแผ่นดินไหว หรือมาจากกระบวนการก่อสร้างที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก การชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ต้องดูจากกรมธรรม์ประกันภัยว่าความคุ้มครองจะครอบคลุมอย่างไร
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วยให้ผู้บริโภคนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อ และต้องไม่ละเลยเรื่องการทำประกันภัยกระจายความเสี่ยง" นางอังคณาวดี ระบุ