วงเสวนา "สังคายนาระบบเตือนภัย" ร่วมถอดบทเรียนแผ่นดินไหวในไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 2, 2025 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เสวนาหัวข้อ "สังคายนาระบบเตือนภัย" ว่า ในภูมิภาคนี้ มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเมียนมา และบางส่วนอยู่ในประเทศจีน และประเทศไทย เพียงแต่ในไทยเป็นรอยเล็ก และมีอัตราการเลื่อนตัวต่ำกว่าในเมียนมา ซึ่งในเมียนมายังมีแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกอินเดีย และไทย หรือตามแนวทะเลอันดามัน-ตะวันตกของเมียนมา ซึ่งทั้งหมดเป็นแหล่งกำเนิดที่จะเกิดแผ่นดินไหว

โดยแหล่งแผ่นดินไหวที่จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีทั้งหมด 3 แหล่ง คือ

1. รอยเลื่อนในจังหวัดกาญจนบุรีของไทย ระยะห่าง 200 กิโลเมตร อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดสูงสุด 7.5 และส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพฯ ได้ โดยเมื่อหลาย 10 ปีก่อน เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 และกระทบมาถึงกรุงเทพฯ แต่ตอนนั้นยังมีอาคารสูงน้อย

2. รอยเลื่อนสะกาย ที่ผ่ากลางประเทศเมียนมา ระยะห่าง 400-1,000 กิโลเมตร อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดสูงสุด 8

3. แนวมุดตัวของแผ่นเปลือกที่อยู่ฝั่งตะวันตกของเมียนมา เรียกว่า แนวมุดตัวอาละกัน ระยะห่าง 600-700 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเกิดแผ่นดินไหวได้สูงถึงระดับขนาด 9 โดยแนวมุดอาละกัน เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 260 ปีที่แล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะเกิดซ้ำ 400-500 ปี ดังนั้น ตอนนี้แนวมุดอาละกัน อาจจะอยู่ระหว่างการสะสมพลังงานอยู่ แต่ยังไม่ถึงขั้นระเบิดในเร็ววัน แต่ก็เป็นไปได้ที่จะระเบิดก่อน หรือยังไม่ระเบิดก็เป็นไปได้ แต่ที่สำคัญคือมีศักยภาพที่จะกระทบกรุงเทพฯ แน่นอน

นายเป็นหนึ่ง กล่าวว่า ทั้ง 3 แหล่งเป็นอันตรายต่อกรุงเทพฯ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีลักษณะพิเศษ คือมีแอ่งดินอ่อนขนาดยักษ์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าแอ่งดินอ่อนที่กรุงเทพฯ ตั้งอยู่นั้น ขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่าตัว ดังนั้นแผ่นดินไหวที่เกิดจาก 3 แหล่งที่กล่าวมา คลื่นที่วิ่งมาแม้จะอ่อนแรงไปแล้ว แต่แอ่งดินอ่อนจะขยายให้แรงขึ้นมาใหม่ได้

ปัญหาอีกอย่างคือ ที่แอ่งดินอ่อนขยายให้แรงขึ้น คือ คลื่นความถี่ต่ำ การสั่นสะเทือนบนผิวดินจะเคลื่อนตัวแบบช้า ๆ ไปซ้ายขวากว่าจะครบรอบใช้เวลา 2-3 วินาที ซึ่งเป็นเหตุการณ์เหมือนเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ไม่ได้สับไปมาแบบเร็ว ๆ การสั่นแบบช้า ๆ แบบนี้ไม่ค่อยส่งผลต่ออาคารขนาดเล็ก เพราะจังหวะไม่ตรงกัน แต่จังหวะดังกล่าวจะตรงกับอาคารสูง ทำให้ขยายความแรงในอาคารสูงได้ ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์อาคารถล่มร้ายแรงแห่งหนึ่ง คืออาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

"ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้ข้อมูลว่า กรณีอาคารสตง. ถล่ม จัดเป็นอาคารสูงที่อยู่ในระยะไกลที่สุด ที่พังจากแผ่นดินไหว เมื่อเทียบกับสถิติทั่วโลก และยังเป็นอาคารที่สูงที่สุด ที่ถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวด้วย เรามีสถิติโลกใหม่ ไม่ใช่สถิติที่เราภูมิใจ แต่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาแผ่นดินไหวของไทย อยู่ในระดับที่ต้องใส่ใจพอสมควร" นายเป็นหนึ่ง กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารสูงมาตั้งแต่ปี 2550 โดยกฎหมายกำหนดให้อาคารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ มีมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยในกรุงเทพฯ แบ่งพื้นที่เป็น 10 พื้นที่ แต่พื้นที่ที่สำคัญสุด คือโซนหมายเลข 5 กรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี

อย่างไรก็ดี แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นล่าสุดอยู่ในระดับ 1 ใน 3 ของระดับที่ระบุไว้ในมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งถ้ามีการออกแบบอาคารถูกต้องตามมาตรฐาน อาคารก็ไม่ควรถล่ม เพราะระดับการต้านทานแผ่นดินไหวในการสร้างตึกที่กำหนดไว้นั้น เป็นระดับความรุนแรงสูงสุดที่จะมีโอกาสเกิด ซึ่งโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวในระดับสูงสุดมีเพียง 10% เท่านั้น

ทั้งนี้ การออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวที่ทำกันทั่วโลก เน้นที่โครงสร้างหลักว่าเสาต้องไม่พัง กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กต้องไม่เสียหาย พื้นต้องไม่หลุด แต่ไม่ได้เน้นโครงสร้างรอง เช่น กำแพงกั้นห้อง, ฝ้าเพดาน, ระบบท่อน้ำ หรือท่อประปา ดังนั้น โครงสร้างรองมีโอกาสที่จะได้รับความเสียหายได้

"จากนี้ไป ทุกคนน่าจะเอาจริงเอาจังเรื่องแผ่นดินไหวมากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายมีมากขึ้น มาตรฐานอาคารสูง อาจมีการทบทวนปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ห่วงในกรุงเทพฯ เพราะหลังจากนี้จะมีคนเอาใจใส่มากขึ้น แต่ห่วงพื้นที่อื่น ๆ ในไทยที่ก็มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวเช่นกัน นอกจากนี้ การประเมินเสริมกำลังอาคารที่มีความอ่อนแอก็มีความสำคัญ ขณะเดียวกัน การสำรวจรอยเลื่อนในไทย ก็เป็นเรื่องที่ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้เพิ่มขึ้น เพราะข้อมูลปัจจุบันของไทยมีน้อยมาก ที่ผ่านมา งบประมาณในการสำรวจมีน้อยมาก หน่วยงานต่าง ๆ จึงอาจต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ และในกรณีกรุงเทพฯ อาจต้องเน้นการสำรวจรอยเลื่อนที่กาญจนบุรีเป็นพิเศษ ส่วนภาคเหนือ ก็มีหลายรอยเลื่อนที่ซ่อนอยู่" นายเป็นหนึ่ง กล่าว

ด้านนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดไทม์ไลน์ของการเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา และส่งผลกระทบถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ดังนี้

  • เวลา 13.20 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหวในไทย
  • เวลา 13.26-13.27 น. อาคารสตง. ถล่ม
  • เวลา 13.36 น. กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รวมทั้งประกาศผ่านเว็บไซต์ ต่อมาเวลา 14.05 น. ออกประกาศกรมอุตุฯ
  • เวลา 13.44 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่าน SMS ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และปภ.จังหวัด
  • เวลา 14.30 น. ปภ. แจ้งประชาชนทั่วไป โดยส่ง SMS ให้ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)
  • ต่อมา กสทช. ต้องส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชน แต่ล่าช้าไปหลายชั่วโมง

นายเสรี กล่าวว่า ไทม์ไลน์เหตุการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ล่าช้ามาตั้งแต่ที่กรมอุตุฯ แจ้งเมื่อเวลา 13.36 น. ซึ่งตอนนั้นตึก สตง. ได้ถล่มไปแล้ว และหลังจากนั้นก็ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกอีก ซึ่งกระบวนการไปชะงักที่ กสทช. ที่ไม่สามารถส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนได้ เพราะระบบแจ้งได้ 200,000-300,000 หมายเลขต่อ 1 ชั่วโมง ซึ่งกรุงเทพฯ มีผู้อาศัยมากถึง 12 ล้านคน จึงไม่ทันต่อเหตุการณ์

ขณะเดียวกัน ณ เวลานั้น ประชาชนก็ยังไม่สามารถใช้โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าการทำงานแบบอนุกรมต่อกันไม่ตอบโจทย์ เพราะทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติภารกิจของตนเอง

ทั้งนี้ ในระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard Operating Procedure: SOP) ศูนย์เตือนภัยมีบอกเวลาว่าแจ้งไปหน่วยงานไหนบ้าง ซึ่งภายใน 30 นาที SOP ต้องจบ แต่ตอนเกิดเหตุใช้เวลา 16 นาที ในการแจ้งไปยังหน่วยงาน แต่ไปชะงักเรื่อง SMS ของ กสทช. เป็นเวลานานหลายชั่วโมง

"ก่อนที่แผ่นดินไหวจากเมียนมาจะมาถึงกรุงเทพฯ เรามีเวลา 7 นาที ซึ่ง Early Warning ต้องทำงาน ซึ่งสมมติว่า ถ้าข้อมูลข่าวสารได้ส่งไปถึงผู้บริหารตึก สตง. หรือเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ผ่านมือถือได้ทันการณ์ จะลดความสูญเสียชีวิตได้มาก" นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวว่า การส่ง SMS มีข้อจำกัด เนื่องจากต้องรู้เลขหมายปลายทาง จึงไม่สามารถส่งให้ประชาชนทุกคนได้ แต่สามารถส่งให้หน่วยงานราชการที่มีเบอร์อยู่แล้วได้ แต่ภายในเดือนก.ค.นี้ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแล้วว่า Cell Broadcast จะต้องเสร็จ ซึ่ง Cell Broadcast ไม่จำเป็นต้องรู้เบอร์ปลายทาง หากเกิดแผ่นดินไหวที่ใด ผลกระทบต่อประชาชนเกิดขึ้นบริเวณใด จะสามารถตีกรอบ และส่งข้อความไปถึงโทรศัพท์มือถือทุกคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้

โดยกระบวนการในการใช้ Cell Broadcast คือ ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาต้องประกาศก่อนเป็นอันดับแรก ว่า "ขณะนี้เกิดแผ่นดินไหวที่ใด ด้วยความรุนแรงเท่าไร อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์" ซึ่งในการประกาศครั้งแรกไม่จำเป็นต้องประกาศอัตราเร่ง เพราะอัตราเร่งจะตามมาทีหลัง ซึ่งเมื่ออัตราเร่งมาแล้ว ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติหรือกรมอุตุฯ ค่อยมาตีกรอบว่าพื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบ และจึงค่อยส่ง Cell Broadcast ให้ประชาชนในกรอบพื้นที่ได้รับข้อมูลทันที

"Cell Broadcast จะมาช่วงก.ค. 68 ตอนนี้นายกฯ จึงได้สั่งการให้ใช้ SMS ก่อน โดยได้สั่งการให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติส่งข้อมูลให้โอเปอเรเตอร์ทันที ไม่ต้องผ่าน กสทช. และให้รีบกระจายข้อมูลทันที ซึ่งโอเปอเรเตอร์ก็บอกว่าทำได้ 1 ล้านหมายเลขต่อชั่วโมง โอเปอเรเตอร์รับปากนายกฯ แต่ต้องจับตาเพราะมีข้อจำกัดที่ว่า SMS ต้องรู้เลขหมายปลายทาง และจะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ ซึ่งก็ยังต้องใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ดังนั้น ต้องไม่อาศัยโอเปอเรเตอร์เพียงอย่างเดียว ทันทีที่เกิดเหตุ วิทยุโทรทัศน์ก็ต้องออกมาทันที หลายช่องทางต้องพร้อมกระจายข่าวสาร" นายเสรี กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้สุดท้ายแล้วไทยจะมี Cell Broadcast หรือ SMS ที่ดี แต่ถ้าคนไทยไม่มีความรู้ความเข้าใจ ก็ไม่มีประสิทธิผล ดังนั้น ต้องอบรมให้ความรู้ประชาชน นอกจากนี้ สื่อต่าง ๆ ก็ต้องช่วยกระจายข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของความรับผิดชอบของหน่วยงานแต่ละแห่งที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดนี้ต้องไปพร้อม ๆ กัน

"ตอนเกิดเหตุคนส่วนใหญ่วิ่งหนี ซึ่งจริง ๆ แล้วควรหลบใต้โต๊ะ และ สตง.เอฟเฟกต์ก็ทำให้คนตื่นตระหนก ทั้ง ๆ ที่อัตราเร่งของแผ่นดินไหวไม่ได้กระทบอาคารในระดับที่กฎกระทรวงกำหนดไว้สูงสุด ประเทศไทยมีกฎหมาย ต้องเชื่อมั่นในกฎกระทรวง เข้าใจในความรู้สึก แต่ต้องพยายามอบรมให้ประชาชนเข้าใจ" นายเสรี กล่าว

นายคมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ระบบเตือนภัย เป็นการส่งสัญญาณและข้อมูลแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือภายหลังเกิดภัยแล้ว มีกระบวนการดูแลจัดการความวิตกกังวลของคนอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐ

บทเรียนเรื่องระบบการเตือนภัยสำคัญ แต่ระบบที่จะดูแลหลังเกิดภัยพิบัติ ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อที่จะทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ กลับมาปกติโดยเร็วที่สุด การเกิดแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนสะกาย มีผลกระทบต่อประเทศไทยน้อยมาก แต่ผลกระทบเชิงความรู้สึกของคนไทย ความวิตกกังวลของคนมีมหาศาล โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีการอพยพ และการจราจรสาธารณะชะงักไปหมด

"หลังจากเหตุการณ์ผ่านไประยะหนึ่ง ทิศทางต่าง ๆ ที่เราคุยกันก็จะจางหายไป ถ้าไทยมีการเตือนภัยที่ดี แต่ทุกคนยังไม่รู้วิธีการปฏิบัติ การตื่นตระหนกของคนก็จะยังมีอยู่ จึงต้องมีกระบวนการเรียนรู้" นายคมสัน กล่าว

สำหรับแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว หากเกิดเหตุให้มุดลงใต้โต๊ะ เพื่อป้องกันสิ่งของหล่นใส่ศีรษะ ซึ่งถ้าเริ่มวิ่งทันทีขณะเกิดแผ่นดินไหว อาจเกิดอันตรายจากการที่มีสิ่งของตกใส่ศีรษะได้ และเมื่อแผ่นดินไหวเริ่มหยุด ให้รีบวิ่งออกจากตึกตามแนวบันไดหนีไฟ และห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด และในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดมาก ๆ ระบบแก๊สที่รั่ว ก็อาจทำให้เกิดไฟไหม้ตามมาได้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ