
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยืนยัน ผลทดสอบคุณสมบัติทางวิศวกรรมและมาตรฐานคุณภาพเหล็กก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดทุกขั้นตอน มั่นใจปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ รฟท. เปิดเผยว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ได้สั่งการให้การรถไฟฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้างและคุณภาพของเหล็กที่ใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงสัญญาที่ 3-1 ซึ่งครอบคลุมงานโยธาบริเวณช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า อย่างเร่งด่วน ภายหลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความกังวลต่อประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของโครงสร้างฯ นั้น การรถไฟฯ ได้ส่งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้างอย่างละเอียดแล้ว โดยผลการตรวจสอบโครงสร้างหลักพบว่า ไม่มีรอยแตกร้าวหรือความเสียหายใดๆ ทั้งนี้ โครงสร้างดังกล่าวได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวและการใช้งานตามมาตรฐานที่กำหนด

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหล็กจากโรงเก็บเหล็กมวกเหล็กและโรงเก็บเหล็กทับกวาง ที่ใช้ในการก่อสร้างของสัญญา 3-1 (แก่งคอย - กลางดง และช่วงปางอโศก - บันไดม้า) เพื่อนำมาทดสอบคุณสมบัติทางวิศวกรรมและมาตรฐานคุณภาพในห้องปฏิบัติการ โดยครอบคลุมการทดสอบในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ค่าความต้านแรงดึงที่จุดคราก (Yield Strength), ค่าความต้านแรงดึงสูงสุด (Tensile Strength), ค่าความยืด (Elongation), การทดสอบการดัดงอ (Bending Test) และส่วนประกอบทางเคมี (Chemical Composition)
ผลการทดสอบดังกล่าวพบว่า เหล็กทุกตัวอย่างมีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดครบถ้วนในทุกด้าน โดยผ่านการทดสอบค่าทางวิศวกรรมและส่วนประกอบทางเคมีตามข้อกำหนดสำหรับวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างระบบรางอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบดังกล่าวยืนยันได้ว่า เหล็กที่นำมาใช้ในโครงการมีคุณภาพสูง แข็งแรง และมีความปลอดภัยต่อการใช้งานตามมาตรฐานสากล
นายวีริศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรถไฟฯ มีมาตรการควบคุมคุณภาพเหล็กอย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตเหล็ก ที่ตรวจสอบตั้งแต่โรงงานเพื่ออนุมัติและรับรองการผลิต เมื่อตรวจสอบโรงงานได้คุณภาพแล้วจึงจะนำเหล็กเข้ามาใช้ในโครงการ นอกจากนี้ ขั้นตอนก่อนใช้งานหลังเหล็กมาถึงหน้างาน ผู้ควบคุมงานจะเก็บตัวอย่างเหล็กไปทดสอบอีกครั้งตามข้อกำหนด หากได้มาตรฐานก็จะนำเหล็กไปใช้งานและเทคอนกรีต ขณะที่ขั้นตอนระหว่างการก่อสร้าง ผู้ควบคุมงานจะตรวจสอบ และควบคุมทุกกระบวนการ เพื่อให้มั่นใจว่าวัสดุที่ใช้ในโครงการมีคุณภาพปลอดภัย เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา
"การรถไฟฯ ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวมถึงโครงการก่อสร้างทุกโครงการ ภายใต้มาตรฐานสากล พร้อมทั้งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างรอบด้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน เพื่อให้ระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยปลอดภัย มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพสูงสุด รองรับการเดินทางในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ว่า คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย" ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าว