
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง "แนวทางการดำเนินงานตามโครงการตรวจโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง และมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมทั้ง 76 จังหวัด" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมส่วนกลาง และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศเข้าร่วม โดยระบุว่า ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งเป็นต้นเหตุของการสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชม และประชาชน ในบางพื้นที่มีการประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต (โรงงานเถื่อน) พบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ชุมชน มีการครอบครองวัตถุอันตราย หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ดังนั้น จึงมีนโยบายให้ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง ทำงานเชิงรุกด้วยการร่วมออกปฏิบัติการตรวจสถานประกอบการอย่างเข้มข้น (ทีมสุดซอย) เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานที่ได้รับแจ้งร้องเรียนจากประชาชนให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการบริหารจัดการ การกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ไม่ใช่เพียงตรวจสอบเพียงประเด็นที่ร้องเรียนมาเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ได้จัดฝึกอบรมกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการตรวจโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง และมีผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด โดยแบ่งการตรวจโรงงานเป็น 4 กลุ่ม รวม 56,886 โรงงาน จัดลำดับตามประเภทโรงงานที่เสี่ยงจะเกิดผลกระทบกับประชาชน
นายณัฐพล กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีการปรับแนวทางการกำกับดูแล ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ผ่านมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการลงโทษ และดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมายตามแนวทางการตรวจสอบโรงงานแบบสุดซอย ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับมาตรฐานการตรวจสอบ และช่วยในการปฏิบัติงานของบุคลากร อาทิ ระบบทะเบียนลูกค้ากระทรวงอุตสาหกรรม i-Industry, ระบบรายงานข้อมูลกลางกระทรวงอุตสาหกรรม i-Singleform, ระบบการกำกับโรงงาน i-Auditor
รวมถึงแพลตฟอร์ม "แจ้งอุต" ที่ประชาชนสามารถร้องเรียนทุกปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมได้โดยตรง รวมทั้งมีการกำหนดพื้นที่นำร่อง "สมุทรสาครโมเดล" ที่มียกระดับมาตรการตรวจกำกับโรงงาน ตั้งแต่ต้นทางกระบวนการอนุญาตในโรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงงานหล่อหลอมโลหะ โรงงานคัดแยก หรือรีไซเคิลวัสดุไม่ใช้แล้ว เป็นต้น หลังจากที่พบขบวนการเครือข่ายใหญ่ลักลอบนำเข้าวัตถุอันตราย และพบโรงงานเถื่อนในพื้นที่ดังกล่าวหลายแห่ง ซึ่งได้มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย และผนึกกำลังร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อยกระดับการกำกับดูแลโรงงาน และปราบปรามผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะขบวนการลักลอบขนขยะอันตรายเข้าประเทศ
"นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่สำคัญ ในการยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบโรงงาน และสถานประกอบการ โดยการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อร่วมเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับภาคการผลิตของไทยสู่มาตรฐานสากลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเติบโตคู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว