"วันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568" ภาคีเครือข่ายย้ำ "ตรวจสอบข้อเท็จจริง" เรื่องของทุกคน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 8, 2025 09:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Cofact (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ Change Fusion The Centre for Humanitarian Dialogue (HD) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาองค์กรของผู้บริโภค สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai PBS AFP ประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดงาน "วันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568 (International Fact-Checking Day 2025) สงครามข้อมูล 2025: โจทย์แห่งความจริงในยุควิกฤตความเชื่อมั่น The Battle for Truth: Reclaiming Information Integrity in the Age of Distrust" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมถ่ายทอดสดทางเพจ Thai PBS และ Cofact โคแฟค

รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยข้อมูลและคำถามต่างๆ มากมาย ไม่ใช่เพียงอะไรคือความจริง แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เชื่อหรือสิ่งที่ส่งต่อนั้นเป็นความจริง และใครมีอำนาจบอกได้ว่าอะไรจริงหรือเท็จ ซึ่งในยุคปัจจุบันที่ทุกคนเป็นทั้งผู้ส่งและรับสาร ความสามารถในการกลั่นกรองจึงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นทักษะที่จำเป็นในการอยู่รอดของประชาธิปไตย สติปัญญาและสุขภาพจิตของสังคม

"ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีการส่งต่อข้อมูลผิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดศูนย์กลาง ความรุนแรงหรือผลกระทบของแผ่นดินไหว จนสร้างความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น หรือแม้แต่ในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจทางการเมืองที่ผ่านมาก็จะมีข้อเท็จจริงบางอย่างถูกตัดทอน บิดเบือนหรือแม้แต่ถูกปลอมแปลง จนกลายเป็นเครื่องมือชี้นำความคิดเห็นต่อสาธารณะ ทั้ง 2 กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลที่ผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ ต่อความมั่นคงทางอารมณ์ แม้แต่ความปลอดภัยของสาธารณชนได้โดยตรง" รศ.ดร.ปรีดา กล่าว

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานนี้ การตรวจสอบข่าวและมีคนที่ถือโอกาสเสนอสิ่งต่างๆ การสื่อสารผ่านช่องทางที่เรากำลังอยากได้พอดี ทำให้เห็นว่าระบบข้อมูลสำคัญมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจหรือภาคใดๆ แต่ต้องทำงานร่วมกัน อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 มีการสื่อสารเกิดขึ้นมากแบบท่วมท้น อีกทั้งเห็นความแตกต่าง

"ด้วย สสส. มีความมุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ การสร้างปัจจัยสิ่งแวดล้อม โคแฟคเป็นหนึ่งในนั้น เราจะทำอย่างไร เราไม่สามารถบอกว่าออกกฎหมาย 1 ฉบับ ส่งอันนี้ให้คนนี้มาทำงาน เราจะไม่สามารถเกิดอันนั้นเลยถ้าเรายังไม่เห็นความสำคัญว่าสิ่งอะไรที่กำลังจะตามมา ทาง World Economic Forum บอกว่าข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนยังเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 1 ติดต่อกันมาแล้ว 2 ปี แปลว่าเราก็ยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้" เบญจมาภรณ์ กล่าว
วาเนสซ่า สไตน์เม็ทซ์ ผู้อำนวยการโครงการประจำประเทศไทยและเวียดนาม มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ หนึ่งในองค์กรร่วมจัดงานครั้งนี้ แนะนำมูลนิธิฯ ว่า อยู่ภายใต้การสนับสนุนของภาคการเมืองฝ่ายเสรีนิยมในเยอรมนี โดยนอกจากการสนับสนุนงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล (Fact Checking) แล้วยังส่งเสริมการเป็นประชาธิปไตย โดยทำงานใน 60 ประเทศทั่วโลก

แดเนียล ฟังเก้ หัวหน้าฝ่ายสืบสวนดิจิทัลสำหรับเอเชียแปซิฟิก สำนักข่าว AFP ฮ่องกง ปาฐกถาหัวข้อ "สงครามข้อมูล: การทวงคืนความเชื่อมั่นสื่อในยุควิกฤตศรัทธา" กล่าวว่า AFP เป็นสำนักข่าวที่มีพนักงานตำแหน่งนักตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ 150 คน ใน 26 ภาษาทั่วโลก รวมถึงส่งผู้สื่อข่าวไปทำข่าวในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลตั้งแต่เบื้องต้น ซึ่งยุคปัจจุบัน สงครามข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น มีข่าวปลอมแพร่หลาย ความเชื่อมั่นก็ลดลงเพราะไม่รู้จะเชื่อข่าวด้านไหน ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวที่สนับสนุนหรือเห็นต่างจากรัฐบาลก็ตาม

"ข้อเท็จจริงยังสำคัญ ความรู้เท่าทันสื่อเป็นสิ่งจำเป็นและไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกท่านสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือว่ารู้เท่าทันสื่อได้เช่นกัน และในส่วนของความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็นข่าวปลอมข่าวลวงต่างๆ ที่เกิดขึ้น แน่นอนความเชื่อมั่นอาจไม่สามารถกลับมาได้ในทันทีทันใด แต่ว่าถ้ามีกระบวนการทำซ้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มความโปร่งใสและการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของความเชื่อมั่นข้อมูลก็จะกลับมา" แดเนียล กล่าว

เจฟฟ์ กัว ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกโกลุก จำกัด (Whoscall) ปาฐกภาหัวข้อ "ความท้าทายระดับโลกและสงครามข้อมูล: การปฏิวัติ AI เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง?" กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายไปในตัว ด้านหนึ่ง AI ช่วยสร้างนวัตกรรมแต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ เช่น Deepfake ซึ่งมักจะใช้คู่กับการส่งข้อความ (SMS) แนบ Link มาด้วย

"ในปี 2566 มีมูลค่าความเสียหายถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตีเป็นเงินไทย 34 ล้านล้านบาท มากขนาดไหน? เงินบัญชีงบประมาณของรัฐบาลเราอยู่ที่ไม่เกิน 4 ล้านล้านบาทต่อปี โดยเฉลี่ย 1 ใน 4 คนไทยถูกหลอก มูลค่าความเสียหายต่อ 1 ท่าน เฉลี่ยอยู่ที่ 36,000 บาท ปัญหาหลักของประเด็นนี้คือความเชื่อมั่นทางดิจิทัลถูกบั่นทอน แน่นอนอยู่แล้วว่าเทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิด (Misuse หรือ Abuse) ก็ส่งผลเสียตามมา" เจฟฟ์ กล่าว

ในงานนี้ยังมีประกาศความร่วมมือ "มอบรางวัลเพื่อส่งเสริมการตรวจสอบข้อมูลของสื่อ (Best Fact-Check and Digital Verification Award 2025)" จากหลากหลายองค์กร อาทิ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า งานวันตรวจสอบข่าวลวงโลกซึ่งจัดขึ้นทุกปี ต้องขอบคุณภาคี เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และพันธมิตรอีกหลายองค์กร

จากการที่โคแฟคทำงานตรวจสอบข้อมูลข่าวสารมา 5 ? 6 ปี ได้ข้อสรุปบทเรียนว่าแม้พยายามรณรงค์อย่างไรก็ตามให้คนรู้เท่าทันข้อมูล ซึ่งก็สำคัญและจำเป็น แต่ก็ไม่เพียงพอกับการรับมือสงครามข้อมูลข่าวสารที่ถาโถม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การเมือง สังคม หรือล่าสุดคือ เรื่องภัยพิบัติที่ทุกคนก็รู้สึกว่าไม่รู้จะเชื่อใครได้ อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา ที่ทุกคนมีประสบการณ์ตรงว่าเป็นแผ่นดินไหวแน่ๆ แต่ก็อยากได้รับการยืนยันจากใครสักคนหนึ่ง เป็น SMS สั้นๆ ก็ยังดี จากหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เชื่อถือได้มาบอกเรา

"จริงๆ แล้วไม่ใช่เราไม่รู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว แต่ทำไมทุกคนเรียกร้อง? เพราะเราอยากได้รับการยืนยันว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงแล้วเราจะต้องทำอย่างไรต่อไป ฉะนั้นในการรับมือกับสงครามข้อมูลข่าวสารคงไม่ใช่แค่เน้นให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อเท่านั้น แต่จะต้องยกระดับการแก้ปัญหาทั้งระบบ ไฮไลท์ของปีนี้จึงมีในส่วนของการประกาศความร่วมมือ" สุภิญญา กล่าว

อรพิน เหตระกูล เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์มีการประกวดข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยมทุกปี โดยปีนี้เข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว มีความร่วมมือกับทางโคแฟค ช่วยเพิ่มรางวัลในสาขา Best Fact Checking & Verification News (รางวัลยอดเยี่ยมด้านการตรวจสอบข่าวและยืนยันข้อเท็จจริง) เป็นการสร้างพื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารให้กับคนทำงานสื่อมวลชน และเป็นกำลังใจให้คนทำงาน

"การประกวดข่าวก็จะเริ่มขึ้นภายในปลายปีนี้ ก็จะได้เรียนเชิญสื่อมวลชนต่างๆ ส่งชิ้นงานเข้าประกวด แล้วก็เชื่อว่ารางวัลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น เป็นพื้นฐานสำคัญของคนทำงานด้านสื่อมวลชน ให้มีพื้นฐานการทำงานที่เน้นย้ำในเรื่องของการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหลายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับด้านข่าว" เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าว

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนฯ เป็นองค์กรมหาชนซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ และเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัย ? ไม่สร้างสรรค์ โดยกองทุนฯ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน สนับสนุนมาตรฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย

"เราทำงานร่วมกับ AFP ในการจัดอบรมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีหลักสูตรทั้งระดับต้นแล้วก็ระดับสูงจัดทำทุกปี เราร่วมกับโคแฟคในหลายๆ ภูมิภาคในการทำงาน รวมถึงสมาคมวิชาชีพ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนต่างๆ ก็ต้องเรียนว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เราพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรและร่วมผลักดันการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทยต่อไป" ดร.ชำนาญ กล่าว

นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติมีสมาชิกสื่อวิชาชีพครบทุกแพลตฟอร์มทั้งสิ่งพิมพ์ ออนไลน์และโทรทัศน์ และจำนวนสมาชิกยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยงานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติคือการกำกับดูแลกันเอง แต่ก็อยากเชิญชวนไปยังสื่อบุคคล อินฟลูเอนเซอร์ ให้มาเป็นแนวร่วมและใช้แนวปฏิบัติเดียวกัน

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ตนพยายามเสนออยู่ทุกปีคือนักข่าวนอกจากทำหน้าที่ในสนามแล้วยังต้องตรวจสอบข้อมูลทางออนไลน์ด้วย อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาก็มีหลายข่าวที่นักข่าวรีบช่วยสถานการณ์ในทันที โดยสมาคมนักข่าวฯ ยินดีที่จะได้ทำงานกับทุกเครือข่าย เพราะมีการอบรมตั้งแต่นักศึกษาที่เรียนด้านข่าว มีเครือข่ายนักวิชาการ ทำงานร่วมกับองค์กรสื่อ เช่น สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือล่าสุดคือ Whoscall ที่พูดคุยกันเรื่องแก้ปัญหาข่าวปลอม

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า งานข้อมูลนิธิฯ เน้นไปที่การปกป้องเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง เป็นการทำงานในเชิงป้องกัน แต่เมื่อตกเป็นเหยื่อแล้วก็ยังถูกกระทำซ้ำด้วยข้อมูลปลอมต่างๆ ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีความสำคัญตั้งแต่การป้องกัน (Prevention) การปกป้อง (Protection) การดำเนินคดี (Prosecution) และการส่งเสริม (Promotion)

"ในแง่ของเราคือสนับสนุนเต็มที่ในเรื่องนี้ และเน้น Participation (การมีส่วนร่วม) ของทุกฝ่าย และอยากให้มีรางวัลแบบแยกไปเลยแบบบุคคล เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง เพราะจริงๆ แล้วเชื่อว่าการสื่อสารในแต่ละกลุ่มเป้าหมายน่าจะมีภาษา มีคาแร็คเตอร์อะไรต่างๆ ที่แตกต่างกัน และอีกอย่างที่เราอยากเน้นส่งเสริมคือบริษัทเทคโนโลยี ควรจะมีบทบาทอย่างมากเลยในการที่จะช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เพราะเทคโนโลยีเข้ามาแล้วถูกนำไปใช้ในการหลอกลวงเยอะมาก" ดร.ศรีดา กล่าว

สถาพร อารักษ์วทนะ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่มีเครือข่ายพันธมิตรที่เติบโตและเข้มแข็งแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าเรื่องของข่าวลวงจะต้องค่อยๆ ลดน้อยลงหรืออาจเปลี่ยนรูปแบบไป เพราะในเครือข่ายของโคแฟคจะเข้มแข็งขึ้นตลอดเวลา ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนงานด้านนี้อยู่แล้ว

"จริงๆ ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค เราสามารถที่จะช่วยขยายและทำงานต่อจากโคแฟคได้อีก เพราะใน พ.ร.บ. ได้กำหนดไว้ว่า สภาผู้บริโภคสามารถที่จะบอกชื่อสินค้า บริการและผู้ประกอบการใดๆ ที่ส่งผลอันตรายหรือเข้าข่ายที่จะทำร้ายผู้บริโภค ถ้าท่านใดหรือสำนักข่าวใดไม่กล้าที่จะบอกชื่อผู้ประกอบการ ไม่กล้าที่จะบอกชื่อสินค้า ส่งผ่านมาทางสภาฯ ก็ได้ ช่วยกันบอกว่าอะไรที่ไม่ดีและอะไรที่เป็นข่าวลวง" สถาพร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ