ศปถ.เผยอุบัติเหตุทางถนนสะสมช่วง 3 อันตราย ดับแล้ว 100 ศพ

ข่าวทั่วไป Monday April 14, 2025 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศปถ.เผยอุบัติเหตุทางถนนสะสมช่วง 3 อันตราย ดับแล้ว 100 ศพ

นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เป็นประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 13 เมษายน 2568 เปิดเผยว่า วันที่สามของการรณรงค์ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 296 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 299 คน และเสียชีวิต 39 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 44.26% ดื่มแล้วขับ 29.05% และตัดหน้ากระชั้นชิด 17.91% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 85.85% ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 81.42% ถนนกรมทางหลวง 37.84% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 32.09% ถนนในเมือง (เทศบาล) 14.19% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-21.00 น. 20.61% เวลา 15.01-18.00 น. 16.89% และเวลา 12.01-15.00 น. 16.55% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี 21.89% โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (19 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี สระแก้ว และเชียงราย (จังหวัดละ 3 ราย)

ขณะที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ฯ (11-13 เม.ย.) รวม 756 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 752 คน และเสียชีวิตรวม 100 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 30 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (28 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (31 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (10 ราย)

"จากสถิติข้อมูลอุบัติเหตุในช่วง 3 วันที่ผ่านมาพบว่ายานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ และพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุดคือการไม่สวมหมวกนิรภัย รองลงมาคือการดื่มแล้วขับ ศปถ.ขอให้ทุกภาคส่วนเพิ่มความเข้มข้นในการกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ โดยใช้กลไกของพื้นที่ในการดำเนินการ" นายขจร กล่าว

ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ขับขี่ที่ทำพฤติกรรมเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนน 10 ข้อ (10 รสขม) ให้ความสำคัญกับการควบคุมดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด และการไม่จำหน่ายให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยในกรณีที่เด็กและเยาวชนอายุที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิต ให้มีการสืบสวนขยายผล เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่ายหรือสนับสนุนให้เด็กดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ให้สำรวจจุดเสี่ยง จุดเกิดเหตุซ้ำซาก ทางร่วมทางแยก และจุดกลับรถ เพื่อปรับปรุงและแก้ไขเส้นทางให้มีความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนปรับปรุงเครื่องหมายและเส้นจราจรให้มีความชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการเดินทาง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการและเดินทางสัญจรไปมา ขอให้ตั้งจุดตรวจและจุดบริการประชาชนในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่กีดขวางเส้นทางจราจร มีระยะห่างจากขอบเส้นทางที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการตั้งในพื้นที่ที่ถนนเปียกหรือมีน้ำขัง และจะต้องมีเครื่องหมาย กรวย หรือป้ายแสดงตำแหน่งจุดบริการ เพื่อให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ