

พันตำรวจเอกทวี เปิดเผยว่า การดำเนินคดีในเหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ถล่มมีการดำเนินคดีอยู่ 2 หน่วยงานคือกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันบูรณาการในการทำคดี ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.สุรวุฒิฯ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 4 ราย ซึ่งผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นคนไทย 3 ราย ส่วนอีก 1 ราย เป็นชาวจีนและนิติบุคคลคือบริษัทไชน่าฯ ที่ถูกจับกุม ในความผิดตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) จากการสอบสวนพบหลักฐานที่เชื่อได้ว่าบริษัทได้นำคนไทยจำนวน 3 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามตัวไปถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เนื่องจากมีหลักฐานทางการเงิน 2,000 กว่าล้านบาท ที่มีการกู้ยืมกรรมการบริษัทที่เป็นคนจีน เป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวเข้าทำสัญญากับ สตง. ในรูปกิจการร่วมค้า
ส่วนอีก 2 เรื่องที่ดีเอสไอทำอยู่ คือ การประมูลงานเข้าข่ายการฮั้วประมูลหรือไม่ ซึ่งจะต้องทำอย่างรอบคอบ เนื่องจากหากเป็นต่างด้าวอำพรางนอมินีมาร่วมกันทำสัญญากับ สตง. ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 7 คือ เป็นการใช้อุบายหรือกระทำโดยวิธีอื่นใดเพื่อให้ได้งาน ซึ่งการเป็นนอมินีก็จะต้องตรวจสอบว่าเข้าข่ายหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีสัญญาการแก้ไขแบบที่มีถึง 9 ครั้ง ซึ่งหลักฐานต่างๆ อยู่ระหว่างการขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสัญญาสุดท้าย เรื่องการก่อสร้างที่เกิดขึ้นแม้จะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโดยตรง แต่ก็เป็นเหตุหนึ่งของการเข้าไปทำสัญญา
ส่วนในคดีที่ตำรวจไปทำคือคดีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหาย ซึ่งตำรวจตั้งเรื่องไว้ว่าเป็นความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือถ้าสอบสวนต่อไปจะต้องอาศัยข้อมูลเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนอาจใช้พยานหลักฐานในชุดเดียวกัน เช่นเรื่องการคุมงาน และ การออกแบบ หรืออาจสืบสวนลึกลงไปว่ามีความเจตนาหรือไม่ ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ นายจาง เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาและบริษัทไชน่าฯ ก็เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง สามารถนำหลักฐานมาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าทำไมตึก สตง. จึงถล่มและทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็พร้อมจะรับฟังและดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่านายจาง ได้มาถึงและพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้สอบปากคำ ซึ่งต้องรอล่ามแปลภาษาและทนายความ ตามสิทธิของผู้ต้องหา ในส่วนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการอยู่ใน 3 เรื่อง คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล) และ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งมี 2 เรื่องที่อาจจะไม่เป็นผลโดยตรงที่อาจจทำให้ตึกถล่ม แต่อาจจะเป็นผลโดยอ้อมหรือการกระทำความผิดที่นำไปสู่เหตุที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเหตุผลโดยตรงที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน คือความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานทางอุตสาหกรรม วัสดุ เช่น เหล็กและปูนว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ส่วนเรื่องนอมินี ไม่ใช่เรื่องโดยตรง แต่ก็สามารถทำให้พวกเขาเข้ามาประมูลงานในครั้งนี้ได้ จึงถือเป็นสาเหตุโดยอ้อม และความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐก็ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน
ขณะที่นอมินี 3 คนไทย ที่ถือหุ้นร่วมกันที่ 51% ในบริษัทฯ แต่พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ถือด้วยตัวเอง แต่เป็นการอำพรางของบุคคลต่างด้าว โดยยืนยันว่าอยู่ระหว่างการติดตามตัวและยังอยู่ในประเทศไทยทั้ง 3 คน
ทั้งนี้ นายชวนหลิง จาง ตามรายงานการสืบสวนพบว่ามีรายชื่อเป็นกรรมการอยู่ในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมาเป็นกิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture กับบมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ [ITD] โดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มีที่ตั้งเลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร โดยตามการจำแนกเป็นสัดส่วนของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 51% ดังนี้ นายโสภณ มีชัย ถือหุ้น 40.7997% นายประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้น 10.2% และนายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้น 0.0003% ส่วนสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน 49% เป็นบุคคล 1 ราย คือ นายชวนหลิง จาง