บ้านหลักล้าน เยียวยาหลักร้อย! กมธ.งบฯ จ่อทำข้อเสนอเพิ่มเงินช่วยจากเหตุแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป Monday April 21, 2025 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามการบริหารงบประมาณ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีวาระพิจารณาความคืบหน้าในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และการเยียวยาอาคารบ้านเรือน ที่ได้รับเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ

โดยที่ประชุม กมธ. ได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกรณีที่มีข่าวว่ามีผู้ได้รับความเสียหายได้รับการประเมินราคาเยียวยาอยู่ที่ 70 - 300 บาท ซึ่งเป็นราคาค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ ได้ยึดระเบียบจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้กำหนดราคาความเสียหายไว้ ทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามระเบียบ โดยสามารถจ่ายเงินเยียวยาได้สูงสุดอยู่ที่ 49,500 บาทต่อหลัง แม้ว่าบ้านจะมีราคา 10 ล้านบาท ตามระเบียบให้วงเงินมาเพียงเท่านี้

ทั้งนี้ หากจะมีการปรับระเบียบใหม่ต้องไปแก้ระเบียบกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกรณีพิเศษเหมือนกับเหตุการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือ ที่ผ่านมาต้องใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่พบว่ามีความเสียหายเกินกว่าระเบียบที่กำหนดไว้ เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย

โดยกมธ.จะมีหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย สภาวิศวกร เพื่อขอความช่วยเหลือดำเนินการส่งวิศวกร มาช่วยตรวจสอบอาคารที่เสียหายในพื้นที่กทม. เนื่องจากบุคลากรของ กทม.มีไม่เพียงพอ ซึ่งการตรวจสอบคาดว่าจะไม่แล้วเสร็จภายใน 90 วัน เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก

"กมธ.มีข้อสังเกตว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความเสียหายมากเกินกว่าที่ระเบียบกำหนดไว้ ต้องมีการเยียวยามากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งบทบาทของสว. มีหน้าที่ตรวจสอบและแก้กฎหมาย ดังนั้นจะมีข้อเสนอ รวมถึงการปรับวงเงินมากกว่าปัจจุบัน และในระเบียบเดิม จะตีเป็นการเหมาจ่ายจะรวมค่าแรงด้วย แต่ที่มีความเป็นห่วงคือค่าวัสดุ อุปกรณ์ ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับราคาปัจจุบัน" นายอลงกต วรกี สว. ประธานกมธ. กล่าว

ด้านกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นคำร้องเพื่อขอรับการเยียวยาจากเหตุแผ่นดินไหวแล้ว 32,279 คน ส่วนที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำหนดให้แจ้งข้อมูลเพื่อขอรับเงินเยียวยาภายใน 30 วันนั้น คงไม่ทัน เนื่องจากมีการตรวจสอบอาคาร และรับรองแล้ว ประมาณ 878 ราย ซึ่งการตรวจสอบไม่ง่าย และต้องใช้เวลาในการนัดหมาย ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งเอกสารที่ตรวจสอบใหกรมป้องกันฯ ได้รอบแรกในวันที่ 28 เม.ย.นี้

ขณะที่กระทรวงแรงงาน รายงานว่า ทั่วประเทศมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบกว่า 23 จังหวัด โดยมีสถานประกอบการประมาณ 198 แห่ง ส่วนกรณีมีผู้เสียชีวิตที่พื้นที่เกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ข้อมูลล่าสุดคือ 47 ราย ยืนยันอัตลักษณ์บุคคลแล้ว 34 ราย แบ่งเป็น คนไทย 23 ราย และ แรงงานต่างชาติ 11 ราย นอกจากนั้นกำลังตรวจสอบอัตลักษณ์อีก 13 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บ 8 ราย ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างการรักษา 1 ราย

นายสิทธิกร ธงยศ สว. ในฐานะโฆษก กมธ.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า ในวันพุธที่ 23 เม.ย.นี้ กมธ.จะประชุมเพื่อติดตามตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ตึก สตง. แห่งใหม่ถล่ม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารสูง และหน่วยงานต่าง ๆ และ สว.ที่เป็นวิศวกร เข้ามาหารือและร่วมตรวจสอบ คาดว่าจะใช้กรอบเวลาไม่เกิน 90 วัน จะได้ข้อสรุปว่าสาเหตุเกิดจากอะไร หากพบมีใครเกี่ยวข้อง ก็จะยื่นองค์กรอิสระให้มีการตรวจสอบต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ