นายกฯ แจงเหตุสหรัฐเลื่อนเจรจาหลังเสนอไทยทบทวนรายละเอียด นโยบาย"ทรัมป์"ปรับเปลี่ยนไม่หยุด

ข่าวทั่วไป Tuesday April 22, 2025 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฯ แจงเหตุสหรัฐเลื่อนเจรจาหลังเสนอไทยทบทวนรายละเอียด นโยบาย

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าได้มีการเลื่อนการเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ ออกไปก่อน เนื่องจากสหรัฐได้ขอให้ฝ่ายไทยทบทวนสาระสำคัญในเรื่องที่จะไปเจรจา ซึ่งจะมีการนัดหมายเจรจากันใหม่อีกครั้ง

"มีการเลื่อน ซึ่งทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้หารือกันเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ อยู่แล้ว พอติดต่อกับทีมล่วงหน้าไป ก็มีสาระสำคัญบางอย่างที่สหรัฐ request กลับมาให้เราทบทวนในเรื่องที่จะไปเจรจา ซึ่งจะมีการนัดหมายกันใหม่อีกครั้ง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นนำมาประกอบกันว่าจะเกิดผลอย่างไร รวมทั้งผลกระทบระยะยาวด้วย ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีข้อตกลงใดๆ ระหว่างกัน จะเป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญความยากลำบากเหมือนกัน ดังนั้น จะต้องค่อยๆ จัดการด้วยความรอบคอบและมีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลก็ขอความเห็นจากทุกภาคส่วน รวมทั้งนักวิชาการ โดยยืนยันว่ารัฐบาลทำดีที่สุดในสถานการณ์นี้ และหวังให้เป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลสหรัฐด้วยตัวเองนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องขอดูระดับของการพูดคุยก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวพร้อมอยู่แล้วที่จะไปพูดคุยเจรจา

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การไปเจรจาของไทยจะไม่ได้ช้าเกินไป ขณะนี้ยังมีเวลาอีกเกือบ 90 วัน ซึ่งได้ทบทวนและคุยกับทีมงานที่จะไปเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ ว่ามีเรื่องใดบ้างที่ควรจะคุยกัน เช่น เรื่องภาษีที่ไทยเก็บจากการนำเข้าสินค้าสหรัฐในอัตราสูง ก็ต้องมาดูว่าจะมีการปรับให้สมเหตุสมผลหรือไม่เทียบกับอีกหลายประเทศ

"ตอนนี้ทางทีมฯ ทำงานกันอย่างละเอียดพอสมควร ไม่ช้าเกินไป...ทุกอย่างเหมือนเดิม รอดูว่าในส่วนที่จะปรับปรุงได้ จะทำได้มากน้อยเพียงใด ต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการ เกษตรกรด้วย ว่าจะทำให้ win-win ได้ไหมทั้งสองฝ่าย เราพยายามจะรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด นี่คือเป้าหมาย" น.ส.แพทองธาร ระบุ

พร้อมย้ำว่า การเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐ ต้องให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ลักษณะการเจรจาเหมือนว่าไทยเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ แล้วต้องยอมทุกอย่าง เพราะทุกประเทศมีความสำคัญเท่ากัน โดยต้องเข้าใจว่าการเข้าไปคุยไม่ใช่การเทหมดหน้าตัก

ขณะเดียวกัน ไทยก็ต้องรักษาความสัมพันธ์กับทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ และจีน ให้มีความสมดุลกันด้วย เพราะทั้งผู้ประกอบการ และเกษตรกรไทย ต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง 2 ประเทศ

"ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจ เราอยากให้เป็นอย่างนั้นต่อไป ดังนั้นทั้ง 2 ประเทศ เราต้อง balance ให้ดี" นายกรัฐมนตรี ระบุ
*รมว.คลัง แจงขอรอบคอบ ข้อมูลพร้อม

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบวุ่า สถานการณ์ในช่วงกว่า 10 วันที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงแค่ประเทศไทย แต่เกิดกับทุกประเทศ ดังนั้นจึงหารือกันในคณะทำงานว่าควรขยับกำหนดเวลาที่จะไปเจรจากับสหรัฐฯ ออกไปก่อน เพื่อศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ และรอบด้าน เพราะไม่อยากไปเจรจาโดยปราศจากข้อมูลที่ละเอียดครบถ้วน ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 70 วัน จะครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันการบังคับใช้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ เชื่อว่าทุกฝ่ายต่างร้อนใจ และตนก็ร้อนใจไม่น้อยไปกว่ากัน ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจา

"ไม่อยากไปเจรจาโดยที่ไม่มีการเตรียมตัวให้รอบด้าน ขอพูดตรง ๆ ว่าขออย่าให้เร็วกว่าคนอื่น และอย่าช้ากว่าคนอื่น เร็วไปก็ไม่ดี แล้วถ้าช้ากว่าคนอื่นก็ไม่ดี เหมาะสมที่สุด คือดูก่อนว่าหัวขบวนเขาโดนอะไรบ้าง กลางขบวนโดนอะไรบ้าง เราอยู่กลาง ๆ เกือบท้าย เราจะได้รู้ว่าควรทำอย่างไร จริง ๆ เขาอยากให้ทุกคนไป เพียงแต่จะจัดคิวอย่างไร ส่วนผมอาจต้องละเอียดรอบคอบหน่อย โดยในระหว่างนี้ ที่เหลือเวลาอีกประมาณ 70 วัน เชื่อว่าทุกคนร้อนใจ" นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย ยืนยันว่า แม้กำหนดการเจรจาจะเลื่อนออกไป แต่ในระดับปฏิบัติการยังไม่หยุด โดยในส่วนที่ต่างประเทศ จะใช้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาเป็นฐาน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ทุกส่วนอยู่ตรงนั้น และมีทีมที่เข้าใจเรื่องกำแพงภาษี ทำงานคู่ขนานไปด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราคุยกันในระดับปฏิบัติการมีความเข้าใจตรงกัน จะได้นำไปสู่การทำข้อมูลว่าครบถ้วนหรือไม่ และต้องดูการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การหารือระดับสูง

"ผมมั่นใจว่า เรากำหนดท่าทีที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย หรือ win win โดยที่ไม่มีผลเสียต่อทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเรา และสหรัฐ ถ้าคำตอบที่ออกมา มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน เราควรใช้จังหวะเวลา และโอกาสที่เหมาะสม มีข้อมูลพร้อม เราก็อยากรู้ว่าที่เราไปสหรัฐฯ นอกจากที่เราเสนอแล้ว เขาต้องการอะไรเพิ่มอีกจากที่เราไม่ได้คาดเดาไว้ เราต้องดูให้รอบคอบ เพื่อให้การเตรียมการนี้ ถูกต้องตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม" นายพิชัย ระบุ

อีกหนึ่งในประเด็นที่คาดว่าสหรัฐฯ มีความกังวลและจะหยิบยกขึ้นพูดคุยคือเรื่องของค่าเงิน ซึ่งในเมื่อสหรัฐฯ ต้องการส่งออกสินค้ามากขึ้น ย่อมคาดหวังว่าแต่ละประเทศจะไม่เข้าไปแทรกแซงค่าเงิน เพราะที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูง จึงไม่ต้องการให้ประเทศคู่ค้าแทรกแซงค่าเงินของตัวเอง และปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ยืนยันว่าไม่ได้มีการแทรกแซงค่าเงินอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการเจรจาจะได้ผลออกมาอย่างไร แต่จะมี 2 สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา นั่นคือทุกประเทศต่างประสบปัญหาเหมือนกัน แต่อาจจะมากน้อยแตกต่างกัน เพราะระบบการค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัว ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศเอง รวมทั้งเศรษฐกิจโลกด้วย ดังนั้นต้องมีการเตรียมการไว้ 2 เรื่อง คือ 1. มาทบทวนแนวทางเจรจากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่ายังคงยืนยันตามแนวทางที่วางไว้หรือไม่ และ 2.เตรียมมาตรการสำหรับการช่วยเหลือ ฟื้นฟู และปฏิรูป รองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา

โดยเรื่องการช่วยเหลือจะคุยกับสภาพัฒน์ว่าเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ แล้วรัฐบาลมีทางเลือกอะไรบ้าง ส่วนการฟื้นฟูเยียวยา ต้องคุยกับผู้ดูแลสถาบันการเงิน นั่นคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าเมื่อกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร ส่วนการปฏิรูปนั้น จะใช้โอกาสของสถานการณ์นี้ปรับปรุงกติกาการนำเข้าต่างๆ ให้มีความชัดเจนโปร่งใสมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ไทยยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ ในช่วงใด เพราะต้องดูการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ และสถานการณ์ที่เหมาะสม เพราะการเจรจาดังกล่าวเหมือนการเจรจาธุรกิจ ตนขอใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้

"เรารอคุย Agree on Principles ถึงแม้ผมไป ก็ยังไม่จบ ผมจะไปแค่ตกลงกว้าง ๆ แนวทางใหญ่ ๆ บนพื้นฐานที่สำคัญ แล้วระดับคนทำงาน จะเจรจากันเรื่องภาษี ความสะดวก สินค้าผ่านประเทศ ขณะเดียวกัน ผมต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ 5 ข้อนี้ทำสำเร็จ คนที่ทำสำเร็จ ไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่ ต้องดูว่าผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจ และทำได้จริง" นายพิชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ