ครม.ออกกฎเหล็ก ห้ามรับคนทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่กลับเข้ารับราชการ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 22, 2025 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครม.ออกกฎเหล็ก ห้ามรับคนทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่กลับเข้ารับราชการ

น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำหรับมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบรรจุบุคคลผู้ซึ่งเคยออกจากราชการ เพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กลับเข้ารับราชการ เพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดตามมาตรการดังกล่าว สามารถกลับเข้ารับราชการได้อีก

สืบเนื่องจากในปัจจุบันมีผู้กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ได้ขอกลับเข้ารับราชการ เนื่องจากได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550

ครม.ออกกฎเหล็ก ห้ามรับคนทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่กลับเข้ารับราชการ

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะล้างแต่เฉพาะโทษเท่านั้น แต่พฤติกรรมการกระทำผิดวินัย ไม่ได้ถูกลบล้าง และหากเป็นการบกพร่องในศีลธรรมอันดี จนเป็นที่รังเกียจแก่สังคม จะถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือน ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดย ป.ป.ช. ได้นำเสนอมาตรการป้องกันการทุริตเกี่ยวกับการบรรจุบุคคลผู้ซึ่งเคยออกจากราชการ เพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กลับเข้ารับราชการ ต่อครม.ตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ

โดยถือว่าเจ้าพนักงานของรัฐที่เคยถูกสั่งให้ออกจากราชการ หรือออกจากการทำงานในหน่วยงานของรัฐ เพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการขอกลับเข้ารับราชการ หรือกลับเข้าทำงานใหม่ในหน่วยงานของรัฐ และไม่ให้พิจารณารับบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการ หรือบรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐโดยเด็ดขาด

พร้อมกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้บังคับบัญชา ที่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจรับบรรจุเจ้าพนักงานของรัฐกลับเข้าสู่ระบบราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกประเภท และให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม. ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ ไปพิจารณาร่วมกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลประเภทต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้สำนักงาน ก.พ. สรุปผลการพิจารณา, ผลการดำเนินการ, ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป

โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้นำมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบรรจุบุคคลผู้ซึ่งเคยออกจากราชการ เพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการกลับเข้ารับราชการเสนอ ครม.พิจารณา ได้แก่

1) ให้นำบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นบรรทัดฐานเพื่อแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ โดยมีข้อกำหนดว่า เจ้าพนักงานของรัฐที่เคยถูกสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากการทำงานในหน่วยงานของรัฐเพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการขอกลับเข้ารับราชการ หรือกลับเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ และไม่ให้บรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการหรือบรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐโดยเด็ดขาด และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้บังคับบัญชา กรณีรับผู้ที่เคยกระทำการทุจริตต่อหน้าที่กลับเข้ารับราชการ หรือกลับเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกประเภท และให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

2) ขอความร่วมมือไปยังองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของเจ้าพนักงานของรัฐประเภทต่าง ๆ ให้นำมติ ก.พ.เรื่อง การบรรจุบุคคลผู้ซึ่งเคยออกจากราชการ เพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการกลับเข้ารับราชการ มาใช้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการพิจารณารับบรรจุผู้ซึ่งเคยออกจากราชการจากการทำงานในหน่วยงานของรัฐ เพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่แล้ว ขอกลับเข้ารับราชการ หรือขอกลับเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐอีก ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการความเห็น และข้อเสนอแนะต่อ ครม.

เมื่อ ครม.ได้รับแจ้งมาตรการฯ แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกิน 90 วัน นับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครบกำหนดวันที่ 8 มิ.ย.68)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ