เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2568 นายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ มีใจความตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้นแต่ประเทศไทยเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เชื่อถือได้ในระยะยาว โดยขณะนี้รัฐบาลไทยได้สรุปข้อเสนอเชิงนโนบายต่าง ๆ รวมถึง "การนำเข้าพลังงาน" จากสหรัฐอเมริกา ในประเด็นเกี่ยวกับจุดยืนของประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ได้ตั้งข้อสังเกตในหนังสือ "ทรัมป์นิยม จากอนุรักษนิยม สู่ประชานิยมปีกขวา" ว่าจุดยืนของทรัมป์ในการรักษาสิ่งแวดล้อมอาจจะแตกต่างไปจากยุคของไบเดนอย่างสิ้นเชิง ทรัมป์ต้องการให้สหรัฐฯ หันกลับสู่โลกพลังงานยุคเก่า ต้องการให้สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดและสนับสนุนการใช้พลังงานฟอสซิลภายในประเทศ
จากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ประกอบกับการข้อสังเกตทางวิชาการข้างต้นแล้ว เราคงมาตั้งคำถามต่อว่า "แล้วพลังงานที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย" คือพลังงานอะไร นำเข้ามาแล้วมี "ผลดีและผลเสีย" อย่างไรกับระบบพลังงานไทยและการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานสู่ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ หากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นให้ความสำคัญกับพลังงานฟอสซิลมากกว่าพลังงานหมุนเวียน
*นำเข้าพลังงานอะไร ?
ช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 รองปลัดกระทรวงพลังงานได้ให้การต้อนรับนายไมค์ ดันเลวี ผู้ว่าการรัฐอะแลสกาและคณะผู้แทนภาคเอกชนด้านพลังงานสหรัฐ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบมจ.ปตท. [PTT] เข้าร่วมการประชุม
ในการประชุมดังกล่าวฝ่ายสหรัฐฯ ได้นำเสนอข้อริเริ่มของประธานาธิบดีทรัมป์ในการพัฒนาโครงการความร่วมมือกับฝ่ายไทยในการพัฒนาโครงการด้าน LNG ในรัฐอะแลสกาในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การสำรวจและผลิตก๊าซ การก่อสร้างท่อส่งก๊าซจากแหล่งผลิตไปยังโรงแปรสภาพก๊าซ และการก่อสร้างโรงแปรสภาพก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากอะแลสกาไปยังภูมิภาคเอเชีย
สื่อของไทยรายงานว่า "ฝ่ายไทยแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงการ Alaka LNG รวมถึงการนำเข้า LNG จากแหล่งดังกล่าว เพื่อรองรับความต้องการ LNG ที่เพิ่มขึ้นสำหรับการใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในอุตสาหกรรมภายในประเทศ" โดยการร่วมทุนในโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของไทย และเพิ่มโอกาสที่ไทยจะพัฒนาเป็น LNG Hub ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศซึ่ง LNG นับเป็น Transition Fuels ที่จะช่วยผลักดันการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ของไทย
คำถามคือ LNG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เมื่อเปรียบเทียบกับชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกัน เช่น ถ่านหิน น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลจะมีศักยภาพอย่างไรที่จะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเพื่อมุ่งหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ? ไม่ใช่ว่า LNG นั้นก็เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทหนึ่งที่เมื่อถูกเผาไหม้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแล้วยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก (อยู่ดี) ? หากใช่ แล้วการใช้ LNG จะสนับสนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality ได้จริงหรือไม่เพียงใด ?
*LNG เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานได้จริง
การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานให้ความสำคัญกับการ "ทยอยเพิ่มการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน" เช่น การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์หรือกังหันลมแบบกระจายตัวโดยเป็นการผลิตและใช้ใกล้ ๆ กับพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานลดการสูญเสียและค่าใช้จ่ายจากการขนส่งในระยะไกล และ "เพิ่มประสิทธิภาพ" ในการใช้ไฟฟ้าผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่รับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้นอาจประสบความท้าทายจากความผันผวนไม่แน่นอนของทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน
McKinsey & Company ได้เผยแพร่บทความชื่อ "The role of natural gas in the move to cleaner, more reliable power" เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2023 อธิบายว่า การผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งมีความผันผวนไม่แน่นอน (Intermittent Renewables Supply) ที่มีปริมาณมากขึ้นในสหรัฐฯ นั้นก่อความเสี่ยงต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากการที่ระบบโครงข่ายนั้นอาจจะไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าที่สามารถ "ถูกสั่งเดินเครื่องการผลิตไฟฟ้า" ได้ (Dispatchable) เพื่อเป็นไฟฟ้าที่จะถูกจ่ายเข้ามาได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ระบบโครงข่ายนั้นมีปริมาณไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่เพียงพอ โดยที่โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีและมีต้นทุนที่ถูกที่สุดในการให้บริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้านี้
สอดคล้องกับรายงาน "บทบาทความเป็นไปได้ของการกำหนดราคาคาร์บอนในกิจการไฟฟ้าของประเทศไทย" จัดทำโดย International Energy Agency (IEA) ได้ให้ความหมายของคำว่า "Dispatchable" คือ เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงจนเกินปริมาณไฟฟ้าที่มีอยู่จะต้องมีโรงไฟฟ้าที่สามารถเรียกให้เดินเครื่องเพื่อผลิตและจ่ายไฟฟ้าได้ในทันที โดยที่โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นมีศักยภาพที่จะถูกสั่งให้ผลิตไฟฟ้าเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและมีการบริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า
พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลยังมีความสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเนื่องจากความผันผวนไม่แน่นอนของทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ในช่วงที่ไฟฟ้าในระบบขาดไป เนื่องจากแดดไม่ออกหรือลมไม่พัด ในขณะที่ระบบกักเก็บพลังงานยังมีราคาแพงหรือยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน แม้ไฟฟ้าจะขาดไปอุปทานและอุปสงค์ไฟฟ้าไม่สมดุลกัน แต่ในฝั่งผู้ใช้นั้นก็ยังไม่อาจหรือไม่ต้องการที่จะลดการใช้ไฟฟ้าลง ระบบไฟฟ้าจึงยังจำเป็นต้องมีไฟฟ้าที่ถูกจ่ายเข้ามาในระบบได้อย่างแน่นอนเพื่อรักษาความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบโครงข่ายไฟฟ้า
กฎหมายไทยนั้น "เปิดช่อง" ให้มีการนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ โดยบุคคลที่ประสงค์จะนำเข้า LNG นั้นสามารถขอรับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อเป็น Gas Shipper ได้ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พรบ.กิจการพลังงานฯ) และส่ง LNG ที่นำเข้ามาให้กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติซึ่งสามารถจ่ายหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตจาก LNG เข้าระบบโครงข่ายของการไฟฟ้าของ กฟผ. กฟน. หรือ กฟภ. ("การไฟฟ้าฯ") โดยที่ การไฟฟ้าฯ สามารถจ่ายหน่วยไฟฟ้าจาก LNG เพื่อบริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าที่มีไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อย ๆ
*ไฟฟ้าจาก LNG เพื่อสนับสนุนเมืองคาร์บอนต่ำ
ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงจึงมีความแน่นอนเพียงพอที่จะ "ทำหน้าที่ตอบสนองต่อความผันผวนไม่แน่นอนของไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน" หากเราเรียก LNG ว่าเป็น "Transition Fuel" แล้ว รัฐบาลคงต้องปักหมุดหมายแห่งเวลาสิ้นสุดและจำกัดจำนวนที่จะนำเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าด้วย โดยจะต้องไม่มองว่าจะเป็นเชื้อเพลิงหลักถาวรในการผลิตไฟฟ้า
บทบาทของเชื้อเพลิงในช่วงการเปลี่ยนผ่านนั้นอาจ "ทยอย" เกิดขึ้น เช่น เพื่อทำหน้าที่เป็นไฟฟ้าที่มีบทบาทสำหรับเมืองหรือบริเวณที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างมาก เช่น เมืองคาร์บอนต่ำ นิคมอุตสาหกรรมที่รองรับเป้าหมาย RE100 หรือพื้นที่ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ เมืองหรือนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้อาจมีการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ได้เอง เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอาจขอรับใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่ายในเมืองอัจฉริยะ
แต่เมื่อไฟฟ้าทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนในเมือง เช่น Data Center หรือโรงพยาบาลในเมืองคาร์บอนต่ำนั้นต้องการไฟฟ้าที่ไม่ตกไม่ดับ ผู้จำหน่ายไฟฟ้าในเมืองคาร์บอนต่ำอาจต้อง "หาไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า" มาเพื่อรักษาปริมาณไฟฟ้าในระบบโครงข่ายในเมืองคาร์บอนต่ำเพื่อป้องกันมิให้ไฟฟ้าดับด้วย
ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในเมืองคาร์บอนต่ำนั้นมีสิทธิขอรับไฟฟ้าที่ผลิตจาก LNG ในฐานะ Transition Fuels จากการไฟฟ้าฯ เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเมืองคาร์บอนต่ำได้หรือไม่ ? ในขณะที่การไฟฟ้าฯ จะทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับผู้จำหน่ายไฟฟ้าพลังงานมหมุนเวียนในเมืองคาร์บอนต่ำในฐานะที่เป็นการให้บริการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเมืองคาร์บอนต่ำได้หรือไม่ ?
*การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐ
ทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเอกชนในเมืองอัจฉริยะ และการไฟฟ้าฯ นั้นต่างเป็น "ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า" ตาม พ.ร.บ.กิจการพลังงานฯ ซึ่งมาตรา 5 ได้ให้นิยามว่าเป็น "การผลิต การจัดให้ได้มา การจัดส่ง การจำหน่ายไฟฟ้า หรือการควบคุมระบบไฟฟ้า"
ดังนั้น ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเมืองคาร์บอนต่ำจะมีสิทธิประกอบไฟฟ้าได้โดยชอบด้วยกฎหมายจะต้องเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ทั้งการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้านั้นเป็น "การประกอบกิจการ" ที่ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าตาม พรบ. กิจการพลังงานฯ ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถขอรับใบอนุญาต "ระบบจำหน่ายไฟฟ้า" เพื่อก่อสร้างและใช้งานระบบจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งจะถูกใช้เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าในเมืองได้
ในส่วนการซื้อและรับไฟฟ้าที่ผลิตจาก LNG ตามนโยบายการนำเข้าจากสหรัฐฯ นั้น หากพิจารณาตามนิยามของ "กิจการไฟฟ้า" ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. กิจการพลังงานฯ แล้ว ผู้เขียนเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถือว่าเป็นการจัดให้ได้มาและจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อใช้ในเมืองคาร์บอนต่ำที่มีเป้าหมาย RE 100 โดยเฉพาะ โดยที่การรับเอาหน่วยไฟฟ้ามานี้อาจเป็นการ "ซื้อไฟฟ้า" มาเพื่อนำไปจำหน่ายต่อในเมืองโดยเฉพาะ
แต่เมื่อไฟฟ้าต้องถูกส่งผ่านระบบโครงข่ายแล้วระบบจำหน่ายไฟฟ้าในเมืองคาร์บอนต่ำนั้นอาจจะต้องมีจุดที่เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายของการไฟฟ้าฯ ที่รับเอาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า LNG ซึ่งตั้งอยู่นอกเมือง ในกรณีนี้ผู้รับใบอนุญาตผลิต ระบบจำหน่าย และจำหน่ายไฟฟ้าในเมืองคาร์บอนต่ำนั้นมีสิทธิตามมาตรา 81 แห่ง พรบ.กิจการพลังงานฯ ขอเชื่อมต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าของตนเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ และ "มีความเป็นไปได้" ที่จะขอรับบริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับความผันผวนของปริมาณไฟฟ้าในเมืองคาร์บอนต่ำ
การไฟฟ้าฯ ซึ่งได้ส่งและขายไฟฟ้าจาก LNG ตามนโยบายการนำเข้าจากสหรัฐฯ จะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเอกชนเพื่อนำไปจำหน่ายต่อในเมืองคาร์บอนต่ำก็เป็นการประกอบกิจการที่น่าจะถือได้เช่นกันว่าเป็นการจัดส่งและจำหน่ายซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตของใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้งานระบบโครงข่ายเพื่อรองรับความผันผวนของการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแล้ว จะเกิดคำถามต่อไปว่าองค์กรกำกับดูแลจะให้อนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าได้ตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ ?
ผู้เขียนเห็นว่าคำตอบคือ "ไม่ได้ดูเฉพาะนิยามของกิจการไฟฟ้า" การใช้อำนาจกับดูแลนั้นแม้จะต้องเป็นไปโดยอิสระ (ในฐานะ Independent Regulator) แต่ความอิสระดังกล่าวจะต้องเป็นตามเพื่อรองรับนโยบายพลังงานของประเทศอีกด้วย หากการไฟฟ้าจะนำเอาไฟฟ้าจาก LNG นำเข้าตามนโยบายการค้ากับสหรัฐฯ มาเพื่อรองรับความผันผวนของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเมืองคาร์บอนต่ำก็ควรจะมีนโยบายพลังงานรองรับ
การทำงานร่วมกัน (แต่ไม่กดทับกันและกัน) ของอำนาจในการกำหนดนโยบายพลังงานและการกำกับดูแลกิจการพลังงานนั้นปรากฏชัดเจนตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. กิจการพลังงานฯ บัญญัติว่า ให้ กกพ. มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้ "ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ"
ส่วนการใช้อำนาจกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) นั้นมาตรา 37 วรรคหนึ่ง(4) แห่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.EEC) บัญญัติว่า กพอ. มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทานแก่บุคคลซึ่งดำเนินการอันเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงานเพื่อให้การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 และนโยบายและแผนตามมาตรา 29 จะเห็นได้ว่าการใช้อำนาจกำกับดูแลกล่าวคือ ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้านั้นจะต้องไป "เพื่อเป้าหมาย" ทางพลังงานของรัฐ
*LNG เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
การที่ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก LNG ที่นำเข้าจาสหรัฐฯ เพื่อเป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถเรียกให้เดินเครื่องเพื่อผลิตและจ่ายไฟฟ้าได้ในทันที และจ่ายไฟฟ้าให้กับเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยปราศจากการวางแผนล่วงหน้า แต่ขณะเดียวกันการเปิดโอกาสให้มีเมืองคาร์บอนต่ำซึ่งได้รับบริการส่งเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้าจาก LNG ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ) นั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกเหนี่ยวรั้งเช่นกัน
คำถามคือ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานนี้ ประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้มีนโยบายการใช้ไฟฟ้าจาก LNG เฉพาะเพื่อการตอบสนองต่อความผันผวนของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างไร ? ผู้เขียนเห็นว่า ความเป็นไปได้คือกำหนดนโยบายเกี่ยวกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคใน "พื้นที่" ที่มีความต้องการไฟฟ้าและมีความพร้อมที่จะรับต้นทุนที่แท้จริงของการรับหน่วยไฟฟ้าจาก LNG ก่อน
ยกตัวอย่างเช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดย กพอ. มีอำนาจในการเห็นชอบแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอตามมาตรา 29 แห่ง พรบ. EECฯ ซึ่ง สกพอ. อาจจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมืองคาร์บอนต่ำว่า ให้มีการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักโดยผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในเมืองซึ่งสามารถลงทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าขึ้นเอง และรับเอาหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตจาก LNG ที่ส่งผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ มาจำหน่ายเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของเมือง โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง
เมื่อมีการอนุมัติแผนตามมาตรา 29 แห่ง พรบ. EECฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พรบ. EECฯ แล้ว กพอ. จะมีอำนาจตามมาตรา 37 แห่ง พรบ. EECฯ ในการให้อนุญาตแก่ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในเมืองซื้อไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งผลิตจาก LNG ตามนโยบายนำเข้าจากสหรัฐฯมาจำหน่ายในเมืองคาร์บอนต่ำ
เมื่อเป็นการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 แห่ง พรบ. EECฯ แล้วการไฟฟ้าฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐย่อมมีหน้าที่ตามมาตรา 7(1) แห่ง พรบ. EECฯ สนับสนุนการดำเนินการตามแผนโดยขายหน่วยไฟฟ้าจาก LNG นำเข้าจากสหรัฐฯ ในฐานะเป็นบริการเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเมืองคาร์บอนต่ำได้
โดยสรุป การมีนโยบายเกี่ยวกับบทบาทของ LNG ในฐานะ Transition Fuel ที่ชัดเจนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ LNG ที่อาจมีการนำเข้ามานั้นจะต้องมีการกำหนดถึงบทบาทในการเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าที่จะถูกใช้เพื่อรองรับความผันผวนของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น ไม่ได้นำเข้ามาเพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าโดยปราศจากนโยบายที่ชัดเจนแล้ว LNG ที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานได้ หากไฟฟ้าเหล่านี้จะกลายไฟฟ้าหลักของประเทศ
ในขณะเดียวกันการมีนโยบายที่ชัดเจน เช่น แผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเมืองคาร์บอนต่ำในพื้นที่ EEC นั้นย่อมจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้การใช้อำนาจกำกับดูแลมีเหมาะสมและตอบสนองต่อการ "เปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างแท้จริง"
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย