รัฐบาลทหารพม่าอนุมัติวีซ่าของเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทั้งหมดที่มีการขอมาแต่ยังไม่ได้อนุมัติ ขณะที่ยูเอ็นเรียกร้องให้ประชาคมโลกระดมเงินทุนเพื่อโครงการบรรเทาภัยพิบัติพายุนาร์กิสเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องประวิงเวลาให้เนิ่นนานออกไปอีก
สำนักงานฝ่ายประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเปิดเผยว่า เงินทุนฉุกเฉินที่มีการขอไปราว 201 ล้านดอลลาร์นั้น ขณะนี้ได้รับมาเพียง 60% เท่านั้น และจำเป็นต้องมีเงินสนับสนุนมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนราว 2.4 ล้านคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุไซโคลนนาร์กิส
พายุไซโคลนนาร์กิสสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกข้าวทางตอนใต้ของพม่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายราว 130,000 คน ขณะที่ประเทศที่พร้อมจะบริจาคเงินช่วยเหลือส่วนใหญ่ต่างก็รอว่ารัฐบาลทหารพม่าจะยอมเปิดทางให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์จากนานาชาติเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยหรือไม่ ก่อนที่จะจัดหาปัจจัยบรรเทาทุกข์เพิ่มขึ้นอีก
กองทัพเรือสหรัฐเปิดเผยว่า ทางกองทัพอาจจะนำเรือออกจากชายฝั่งพม่า เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากสหรัฐ โดยพลเรือเอกทิโมธี คีทติง ผู้บัญชาการกองทัพเรือฝ่ายกิจการแปซิฟิกของสหรัฐกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "ถ้ารัฐบาลทหารพม่าไม่ไฟเขียวให้เรา เราก็จะนำเรือออกจากชายฝั่งพม่าภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ ซึ่งเรือของเราบรรทุกเตียงพยาบาลและปัจจัยบรรเทาทุกข์จำนวนมาก แต่เรารู้สึกผิดหวังที่พม่าไม่ยอมรับความช่วยเหลือเหล่านี้"
"มีประชาชนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งรวมถึงเด็กๆที่พ่อแม่เสียชีวิตเพราะพายุ คนเหล่านี้ต้องการข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น อาหาร น้ำ และที่พักพิงชั่วคราว เราพร้อมที่จะลำเลียงสิ่งของเหล่านี้ให้กับพวกเขา และเทียบเรือรออยู่นานแล้ว" พลเรือเอกทิโมธี คีทติง กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากเจ้าหน้าที่ตัวแทนของรัฐบาลทหารพม่าได้เข้าเจรจากับนายบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็นแล้ว รัฐบาลทหารพม่าก็มีท่าทีอ่อนลงและยอมคลายกฏข้อบังคับให้กับหน่วยงานระหว่างประเทศที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิรวดี พร้อมกับกล่าวว่า หน่วยงานเหล่านี้สามารถใช้สนามบินในเมืองย่างกุ้งเป็นจุดแจกจ่ายปัจจัยบรรเทาทุกข์ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--