ม็อบรถบรรทุกเลื่อนกำหนดบุก กทม./รอผลหารือพลังงาน-คมนาคม 19 มิ.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Monday June 16, 2008 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย สั่งชะลอเคลื่อนรถบรรทุกบุกเข้า กทม.ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ หลังกระทรวงคมนาคมขอเจรจาข้อเสนอในวันที่ 19 มิ.ย.51 ด้านประธานสหพันธ์ฯ เผยหากรัฐบาลช่วยจัดหาน้ำมันราคาถูกจะไม่ปรับขึ้นค่าขนส่งแน่นอน
นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์ฯ กล่าวว่า ได้รับการติดต่อจากกระทรวงคมนาคมเพื่อขอเจรจาข้อเสนอที่สหพันธ์ฯ เรียกร้องให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการรถบรรทุกในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ และระหว่างรอการประชุมดังกล่าวผู้ประกอบการรถบรรทุกจะชะลอการเคลื่อนรถบรรทุกจากทั่วประเทศเข้ามาจอดที่ กทม.ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ออกไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปในการเจรจา
ทั้งนี้ สหพันธ์ฯ ยืนยันข้อเสนอหลัก 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลจัดหาน้ำมันดีเซลราคาต่ำกว่าท้องตลาดอย่างน้อยลิตรละ 3 บาท, ให้รัฐบาลจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงินประมาณ 2,000-5,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกนำเงินไปปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้เอ็นจีวี ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่คันละ 4-5 แสนบาท และให้กรมทางหลวงและตำรวจทางหลวงเร่งแก้ปัญหาส่วยทางหลวง โดยยืนยันว่าหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจะไม่ปรับขึ้นค่าขนส่งแน่นอน และจะควบคุมการจัดสรรน้ำมันให้กับสมาชิกสหพันธ์ฯ อย่างทั่วถึงและไม่ให้รั่วไหล
"ที่ผ่านมาเราไม่ต้องการปรับขึ้นค่าขนส่ง เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ดังนั้นหากรัฐบาลช่วยเราจึงยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าขนส่งแน่นอน ส่วนปริมาณน้ำมันที่จะขอให้รัฐอุดหนุนน้ำมันราคาต่ำนั้นจะให้ช่วยตามปริมาณที่ผู้ประกอบการใช้จริง ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายมีปริมาณการใช้แตกต่างกัน" นายยู กล่าว
นายยู กล่าวอีกว่า ปัจจุบันส่วยทางหลวงเริ่มระบาดกับผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้า โดยมีการซื้อสติ๊กเกอร์ประมาณ 2,000-5,000 บาทต่อเดือน เพื่อที่จะผ่านด่านชั่งน้ำหนักของตำรวจทางหลวง และผลจากการเรียกเก็บส่วยทางหลวงทำให้รถบรรทุกขนสินค้าน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะต้องการขนสินค้าให้มากขึ้นเพื่อที่จะลดต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ถนนสายหลักต่างๆ เกิดปัญหาชุดเสียหายจากการรับน้ำหนักเกิน
ด้าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถบรรทุกต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ กระทรวงคมนาคมไม่ได้เป็นหน่วยงานหลักที่จะให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ประสานกับกระทรวงพลังงานเพื่อเจรจาให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการรถบรรทุก ซึ่งต้องใช้เวลาและขอให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกรอผลการเจรจาก่อน
"ภาครัฐพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่เดือดร้อนจากน้ำมันแพง แต่ต้องเข้าใจว่าปัญหาน้ำมันแพงเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้เฉพาะที่ประเทศไทย" นายสันติ กล่าว
ขณะที่ นางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร กล่าวภายหลังยื่นหนังสือต่อ รมว.คมนาคม ว่า สมาคมฯ ขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารรถร่วมบริการ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) อีก 9 สตางค์/กม. จากเดิมที่ได้รับอนุมัติปรับขึ้น 3 สตางค์/กม. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา
สาเหตุที่ขอปรับค่าโดยสาร เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับลิตรละ 42.14 บาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนหลักที่สำคัญในการประกอบกิจการ ขณะที่ต้นทุนส่วนอื่นๆ ได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ยางรถยนต์ น้ำมันหล่อลื่น เหล็ก และอะไหล่อุปกรณ์ต่างๆ ประกอบกับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการต่อเที่ยวลดลง เพราะมีรถตู้เถื่อนให้บริการทับเส้นทาง
โดยผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ และจากการที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร 3 สตางค์/กม. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นการคำนวณจากฐานราคาน้ำมันลิตรละ 27.34 บาท จึงเกิดส่วนต่างของราคาน้ำมันถึงลิตรละ 14.80 บาท ดังนั้นจะต้องปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 12 สตางค์/กม. เพื่อให้เท่ากับอัตราค่าโดยสารอ้างอิงของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง
"แม้ที่ผ่านมาจะได้อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นต้องขอปรับขึ้นค่าโดยสารอีก เพราะปัจจุบันค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ถือว่าถูกที่สุดในโลก หากผู้โดยสารไม่เชื่อ หรืออยากรู้ว่าจริงหรือไม่ ให้มาถามที่เจ๊เกียวได้" นางสุจินดา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ