ผลการศึกษาซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในจีนเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา อาจก่อให้เกิดอาฟเตอร์ช็อคขนาดใหญ่หลายครั้งในอนาคตอันใกล้
ทอม พาร์สันส์ จากศูนย์วิจัยธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ และคณะ กล่าวในบทความว่า แผ่นดินไหวขนาด 7.9 ริกเตอร์ ซึ่งมีความรุนแรงที่สุดในรอบ 58 ปี อาจทำให้เกิดรอยแยกบริเวณรอบแอ่งเสฉวน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาฟเตอร์ช็อคอีกหลายครั้งในหลายเดือนหรือหลายปีหลังจากนี้
"เหตุการณ์ในทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก ดังนั้นต้องมีการระบุรอยแยกซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อการอพยพย้ายถิ่นอย่างทันท่วงที" นายพาร์สันส์กล่าว
จากสถิติพบว่าแผ่นดินไหวความรุนแรงเท่ากับในมณฑลเสฉวนอาจก่อให้เกิดอาฟเตอร์ช็อคที่มีความรุนแรงถึง 7 ริกเตอร์ ซึ่งสามารถทำลายอาคารบ้านเรือน รางรถไฟ หรือสะพานได้อย่างง่ายดาย เหมือนกับอาฟเตอร์ช็อคขนาด 7.4 และ 7.1 ริกเตอร์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2542 ที่ประเทศตุรกี ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 17,000 คน
ในขณะเดียวกันก็เกิดอาฟเตอร์ช็อคความรุนแรงถึง 8.7 ริกเตอร์บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเดือนธ.ค.ปี 2547 จนทำให้เกิดสึนามิซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 270,000 คน สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปรียพรรณ มีสุข/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--