ดุสิตโพลเผยคนไทย 66% หนุน 6 มาตรการฝ่าวิกฤต แต่เพิ่มคะแนนนิยมได้ไม่มาก

ข่าวทั่วไป Friday July 18, 2008 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของประชาชนที่มีต่อ "6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อไทยทุกคน" ของรัฐบาลว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 66% เห็นด้วยกับมาตรการที่ออกมา โดยพบว่าคนกรุงเทพฯ พอใจมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันมากสุด ส่วนคนต่างจังหวัดพอใจมาตรการชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ในภาคครัวเรือนมากสุด
แต่หากแบ่งการสำรวจตามระดับเงินเดือนจะพบว่า คนที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท จะพอใจมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถประจำทาง ขสมก.มากที่สุด ส่วนคนที่มีเงินเดือนมากกว่า 10,000 บาท จะพอใจต่อมาตรการชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ในภาคครัวเรือนมากสุด
นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 45.38% เชื่อว่าผลของการออก 6 มาตรการนี้ทำให้ความนิยมที่มีต่อรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะเห็นว่าเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้เพียงเล็กน้อย และเป็นการหวังผลในการเพิ่มคะแนนความนิยมของรัฐบาลเท่านั้น
ขณะที่อีก 40.99% เชื่อว่าจะทำให้ความนิยมที่มีต่อรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นมาตรการที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้จริงและเป็นรูปธรรม อีกทั้งคนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ โดยมีเพียง 13.63% เชื่อว่าจะทำให้ความนิยมในตัวรัฐบาลน้อยลง เพราะเป็นการสร้างภาพ สร้างกระแสเพื่อกลบข่าวอื่นของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลควรจะมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนมานานแล้ว รวมถึงยังไม่เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้
ทั้งนี้สอดคล้องกับผลการสำรวจที่ว่า 6 มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างไร โดยส่วนใหญ่ 51.43% เชื่อว่าความเป็นอยู่จะดีขึ้น เพราะเป็นการช่วยลดภาระบางส่วนให้ประหยัดลงได้ และเป็นการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ขณะที่ 44.01% มองว่าเหมือนเดิม เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม โดยมีเพียง 4.56% เท่านั้น ที่เชื่อว่าความเป็นอยู่จะแย่ลง เพราะสินค้ายังมีราคาสูง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ซึ่งดูเหมือนประชาชนจะได้ประโยชน์ แต่รัฐบาลอาจเก็บภาษีจากทางอื่นมากขึ้น
สำหรับ 6 มาตรการที่รัฐบาลออกมานั้นจะนำออกมาใช้ในช่วง 6 เดือน ตั้งแต่ 1 ส.ค.51-31 ม.ค.52 ประกอบด้วย มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน(เริ่ม 25 ก.ค.51), ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน, ลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำประปา, ลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า, ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถประจำทาง ขสมก. และ ลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3
สำหรับผลการสำรวจดังกล่าว มีขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ก.ค.51 จากประชาชนทั้งหมด 2,801 คน แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 1,280 คน และต่างจังหวัด 1,521 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ