เอแบคโพลล์ชี้ปชช.ร่วม75%หนุนลงประชามติก่อนแก้รธน.ทุกข์ใจปัญหาใต้มากสุด

ข่าวทั่วไป Sunday August 3, 2008 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง สถานการณ์บ้านเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสายตาของสาธารณชน กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ระยอง ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย สกลนคร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ กระบี่ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 3,880 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ.2551
ในส่วนของความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.3 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ถ้าไม่แก้แล้วจะเกิดความวุ่นวาย / เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพรรคการเมือง / ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ / เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ เป็นต้น ขณะที่ ประชาชนจำนวนมากเช่นกันหรือร้อยละ 46.7 ไม่เห็นด้วย เพราะ ถ้าแก้ไขจะเกิดความวุ่นวาย / เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง / ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมลงประชามติก่อน เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการลงประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.6 เห็นด้วยว่า ควรลงประชามติถามประชาชนก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เมื่อจำแนกประชาชนออกตามภูมิภาค พบว่า ประชาชนในทุกภาคยกเว้นภาคใต้นั้น เกินกว่าครึ่ง คือภาคเหนือร้อยละ 55.4 ภาคกลางร้อยละ 59 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 51.9 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 56.7 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่ภาคใต้ร้อยละ 42.7 ที่เห็นด้วย แต่ร้อยละ 57.3 ของคนในภาคใต้ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามความคิดเห็นของสาธารณชนต่อสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุ คิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น สำหรับความทุกข์ใจของสาธารณชนต่อสถานการณ์บ้านเมืองใน 4 ปัญหาหลักของประเทศ พบว่า สถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนทุกข์ใจมากเป็นอันดับแรกหรือร้อยละ 52.2 คือความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาคือร้อยละ 49.7 ระบุ เป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มหนุน กับ กลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ ขณะที่ร้อยละ 48.7 ระบุ ทุกข์ใจต่อปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ และร้อยละ 38.5 ระบุ ทุกข์ใจต่อปัญหาชายแดนไทย - กัมพูชา กรณีประสาทพระวิหาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ