ศาลอาญานัดฟังคำสั่งในคดีที่ทนายความกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินทางมายื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุมัติออกหมายจับแกนนำทั้ง 9 คน ในเวลา 14.00 น.พรุ่งนี้
คำอุทธรณ์สรุปว่า ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนหมายจับของผู้ต้องหาทั้ง 9 คน เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2551 โดยเห็นว่า การออกหมายจับเป็นขั้นตอนแรก เพื่อให้ได้ตัวบุคคลมาสอบสวน ที่เป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวน จึงมีเหตุให้ออกหมายจับได้ ส่วนผู้ต้องหาจะกระทำผิดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องผ่านกระบวนการสอบสวน สั่งฟ้อง และพิจารณาของศาลนั้น ผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว โดยการออกหมายจับ ศาลชั้นต้นต้องปฏิบัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 (1) และข้อบังคับประธานศาลฎีกาโดยเคร่งครัด
การออกหมายจับศาลชั้นต้น ต้องไต่สวนให้ได้ความว่า มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหา พนักงานสอบสวนจึงต้องทำการรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ความดังกล่าวก่อน จึงจะตั้งข้อกล่าวหาและขอออกหมายจับ ดังนั้น การออกหมายจับจึงไม่ใช่ขั้นตอนแรก เพื่อการสอบสวนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เพราะในขั้นตอนนี้พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาอยู่ในอำนาจควบคุมของตน หลังจากที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแล้ว ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 134 โดยเฉพาะคดีนี้เป็นคดีการเมือง และผู้ร้องไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสอบสวน ที่จะต้องรีบจับกุมตัว และยังปรากฏว่า พนักงานสอบสวนใช้เวลาสอบสวนเพียงวันเดียวหลังเกิดเหตุ และตั้งข้อหาทันที ข้อหาหลายข้อก็เกินต่อความเป็นจริง โดยเฉพาะข้อหาตามมาตรา 113, 114 และ 116 ซึ่งไม่ปรากฏในแนวทางไต่สวนว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอในการที่จะต้องข้อกล่าวหาดังกล่าวได้
ส่วนที่ว่าการออกหมายจับจะเป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวน แต่เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว ย่อมกระทบสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง ดังนั้น ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับได้ และรับทราบกระบวนการพิจารณาทุกขั้นตอน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (7) โดยผู้ร้องขออนุญาตคัดถ่ายเอกสาร แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายที่จะต่อสู้คดีได้เต็มที่ ซึ่งการออกหมายจับต้องทำการสอบสวน จนได้พยานหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิด ไม่ใช่จับตัวมาก่อน แล้วหาพยานหลักฐานมาเพิ่มเติม ซึ่งข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ข้อ 19 กำหนดให้การออกหมายจับ หรือยกคำร้อง จะต้องระบุเหตุผลให้ครบถ้วนชัดแจ้ง เมื่อข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไม่ปรากฏว่า มีการกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิด มาตรา 113, 114 และ 116 ดังนั้น การออกหมายจับดังกล่าวจึงขัดต่อข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ชุมนุมมีอาวุธนั้น ผู้ร้องขอชี้แจงว่า สิ่งของที่ค้นพบ เช่น ไม้เบสบอล ไม้กอล์ฟ มีเพียงบางชิ้นที่ผู้ชุมนุมใช้ในการป้องกันตัวเท่านั้น ซึ่งโดยสภาพไม่ใช่อาวุธที่จะนำไปใช้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ส่วนที่ผู้ชุมนุมเข้าไปในสถานที่ราชการ ปิดสถานีโทรทัศน์ หรือประกาศมาตรการไม่ให้ประชาชนเสียภาษี ก็เพื่อประท้วงและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ อันเป็นมาตรการอารยะขัดขืนเท่านั้น ซึ่งทำไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่มีเป้าหมายให้นายกรัฐมนตรีลาออกตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ การดำเนินการของผู้ร้องทั้ง 9 เป็นการทำประโยชน์เพื่อชาติและประชาชน ธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ดังนั้น จึงขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นคณะอื่นทำการไต่สวนและมีคำสั่งต่อไป และในระหว่างการพิจารณานี้ ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งงดการดำเนินการตามหมายจับไว้ชั่วคราว เพื่อรอฟังคำพิพากษาต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--