นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นเตรียมทดลองโคลนหนูจากหนูที่ถูกแช่แข็งมาเป็นเวลานานถึง 16 ปี โดยใช้เซลล์สมองจากหนูแช่แข็งตัวดังกล่าว ซึ่งการทดลองให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาจากเซลล์เดียวกันครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การนำเซลล์ที่ถูกแช่แข็งแล้วมาทดลองนั้นอาจจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากความเย็นจากน้ำแข็งจะทำให้ดีเอ็นเอเสียหาย
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ในเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า หากเทคนิคการนำเซลล์แช่แข็งแล้วมาโคลนสัตว์ได้ก็อาจจะทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นในการโคลนสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่างเช่นช้างแมมมอธ โดยใช้เซลล์จากซากแช่แข็งที่มีอยู่
การโคลนนิ่งในปัจจุบันนั้นจะทำสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อใช้เซลล์ที่ยังมีชีวิตอยู่จากผู้บริจาค และเปลี่ยนดีเอ็นเอไปยังไข่ของผู้รับ โดยการโคลนแกะดอลลีที่ประสบความสำเร็จเมื่อปี 2538 นั้น เกิดขึ้นโดยใช้วิธีการนำเอานิวเคลียสออกมาวางในไข่ และเริ่มปฏิกริยาโดยการใช้สารเคมีหรือไฟฟ้า
ผลการวิจัยของญี่ปุ่นชี้ว่า ที่ผ่านมา การโคลนนิ่งจะไม่สามารถใช้เซลล์แช่แข็งได้ เพราะการก่อตัวของน้ำแข็งอาจจะทำให้ดีเอ็นเอที่มีอยู่นั้นเสียหายไป
นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการโคลนด้วยการใช้เซลล์สมองจากหนูที่ถูกแช่แข้งที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ขณะที่ซากช้างแมมมอธที่ถูกค้นพบนั้นมีอายุถึง 40,000 ปี
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การทดลองที่ปราศจากสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับไข่ ตลอดจนการขาดแคลนแม่ที่จะมารับหน้าที่อุ้มท้องนั้นถือเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านเทคนิคที่จะได้มีการนำมาใช้กับสัตว์ที่สูญพันธุ์หรือใกล้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว