รายงานการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร The Lancet Neurology ฉบับวันนี้ระบุว่า ประเทศอังกฤษอาจพบการระบาดของโรควัวบ้าในอนาคต ขณะที่มีการพบข้อมูลใหม่ที่บ่งชี้ว่า มีผู้ป่วยบางรายแสดงอาการของเชื้อวัวบ้าช้ากว่าผู้ป่วยคนอื่นๆ
ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า โรควัวบ้ามีความเกี่ยวข้องกับระดับโปรตีนที่ผิดปกติในสมองและเกิดจากหลายปัจจัยด้านพันธุกรรม นอกจากนี้ ความแตกต่างของ DNA ในแต่ละคนอาจส่งผลต่ออาการตอบสนองของโรคในทันที หรือบางรายอาจอาศัยเวลานานกว่าที่อาการของโรคจะรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้ค้นพบเชื้อโรควัวบ้า (BSE) ในปศุสัตว์กว่า 200,000 ตัวเมื่อช่วงกลางปี 1900 ซึ่งมีความเชื่อมโยงระหว่างเชื้อโรควัวบ้า และโรคสมองฝ่อ (CJD) ในมนุษย์ พร้อมทั้งมีหลักฐานบ่งชี้ว่าคนอาจติดเชื้อโรคดังกล่าวจากการรับประทานเนื้อวัวที่มีเชื้อวัวบ้า หรือติดต่อทางการถ่ายเลือด
อย่างไรก็ตาม สำนักงานควบคุมดูแลโรคสมองฝ่อในเมืองอีเดนเบิร์กคาดการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคสมองฝ่อในอังกฤษประมาณ 164 คนตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา ซึ่งอาการเบื้องต้นนั้นผู้ป่วยจะซึมเศร้า มีความผิดปกติทางจิต อ่อนไหวง่าย และเหม่อลอย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อังกฤษได้สั่งห้ามประชาชนรับประทานเนื้อวัวที่มีอายุเกิน 30 เดือนในช่วงปี 2539-2548 ขณะที่ทางการเริ่มมีการตรวจสอบเชื้อวัวบ้าทั่วประเทศ ซึ่งคำสั่งห้ามดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้บรรดาเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์เป็นเงินกว่า 500 ล้านปอนด์ (7.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี