นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยถึงภาวะสังคมช่วงไตรมาส 3/51 ว่า มิติด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในไตรมาสนี้ พบว่าค่าใช้จ่ายในการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบในครัวเรือนลดลง โดยค่าใช้จ่ายการบริโภคแอลกอฮอล์อยู่ที่ 32,387 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.28% ซึ่งอยู่ที่ 33,142 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายต่อการบริโภคยาสูบอยู่ที่ 6,048 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.40% ซึ่งอยู่ที่ 6,134 ล้านบาท
"แม้จะมีการรณรงค์ในการลดละเลิกการเสพ แต่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนยังมีผู้ดื่มสุราถึง 21.9% และสูบบุหรี่ถึง 12.1% สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเข้าสังคม สังสรรค์ อยากทดลอง และตามเพื่อน" นางสุวรรณี กล่าว
มิติด้านความมั่นคงทางสังคม พบว่า การโจรกรรมรถจักรยานยนต์เป็นคดีที่พบมากถึง 1 ใน 3 ของคดีลักทรัพย์ โดยมียอดการรับแจ้งถึง 5,036 คดี ส่วนมากเกิดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยสามารถจับกุมได้เพียง 18.5% ของคดีที่รับแจ้ง ส่วนคดีการทำผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกายและเพศ อยู่ที่ 7,690 คดี ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.1%
ส่วนคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ อยู่ที่ 17,837 คดี ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.4% ด้านคดียาเสพติดกลับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 43% โดยสามารถจับกุมผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ถึง 55,099 ราย
สำหรับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน พบว่าคดีในกลุ่มนี้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.6% โดยส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าคดียาเสพติดและคดีเกี่ยวกับเพศลดลงเพียงเล็กน้อยเพียง 3.5% และ 1.8% ตามลำดับ โดยคดียาเสพติดนั้นเกี่ยวข้องกับยาบ้าถึง 66%
"เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดมีสาเหตุหลักมาจากการคบเพื่อนและความคึกคะนอง ขาดความยับยั้งชั่งใจจากการที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ยุ่งกับการทำงานและมีเวลาน้อยที่จะทำกิจกรรมร่วมกับลูก ทำให้เด็กรู้สึกห่างเหินกับพ่อแม่มากขึ้น" รองเลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ