In Focus10 อันดับภัยพิบัติปีหนูไฟ...สัญญาณอันตรายสิ่งแวดล้อมโลกใกล้หายนะ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 24, 2008 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปีหนูไฟ...คือชื่อที่ใครหลายคนใช้เรียกช่วงเวลาแห่งปีพุทธศักราช 2551 ที่บ่งบอกถึงความโหดร้าย และการเผชิญยุคสมัยแห่งความทุกข์เข็ญ จากวิกฤตการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมากมายในรอบ 1 ปี และแน่นอนว่า สิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำความดุร้ายของปีหนูไฟให้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นคือเหตุการณ์ "ภัยพิบัติ" ซึ่งเป็นหายนะทางธรรมชาติที่สามารถกวาดล้างมนุษยชาติได้เพียงชั่วพริบตา

และนี่คือ 10 อันดับเหตุการณ์ภัยพิบัติปีหนูไฟ ซึ่งนับเป็นสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ช่วงเวลาของการแตกดับแห่งจักรวาลตามคำทำนายหลายสำนัก

1. พายุหิมะ: จีนประเดิมศักราชปีหนู รับเหมันต์ฤดูอันหนาวเหน็บ

วันที่ 26 มกราคม 2551 จีนเผชิญกับเหตุพายุหิมะรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี โดยสภาพอากาศที่หนาวเย็นจับขั้วหัวใจได้เด็ดชีพผู้คนไปอย่างน้อย 130 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1,500 คนจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ขณะที่บ้านเรือนพังยับเสียหายราว 485,000 หลัง ซึ่งวิกฤตพายุหิมะนี้เองที่ทำให้ทั่วโลกได้เห็นภาพความร้อนแรงของพญามังกรที่ต้องสยบยอมให้กับความหนาวเย็นโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประชาชนเดินทางกลับสู่มาตุภูมิเพื่อฉลองตรุษจีน แต่กลับต้องเจออุปสรรคในการเดินทางจากจำนวนผู้โดยสารหลายล้านคนที่ตกค้างตามสถานีรถไฟ

ผืนแผ่นดินของจีนที่ปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนคือภาพความเสียหายของพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 25 ล้านไร่ซึ่งส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่และซ้ำเติมภาวะข้าวยากหมากแพงที่สร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อให้ทะยานขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปีที่ 8% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ทางการจีนประเมินตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติครั้งนี้ที่ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. พายุไซโคลนนาร์กิส: เสียงครวญดังระงม เหนือลุ่มน้ำอิระวดี

3 พฤษภาคม 2551 คือวันที่ม่านฟ้าเหนือลุ่มน้ำอิระวดีหม่นเศร้า เมื่อดินแดนที่เคยโอบอุ้มชุบเลี้ยงชาวพม่ากลายเป็นป่าช้าที่รองรับร่างไร้วิญญาณของเหยื่อพายุไซโคลน "นาร์กิส" ซึ่งก่อตัวขึ้นบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางพร้อมถาโถมขึ้นฝั่งอิระวดี ด้วยความเร็วสูงสุดเกือบถึง 215 กม./ชม.จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายถึง 138,000 คน และประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย 2.4 ล้านคน ขณะที่เรือกสวนไร่นาเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ส่วนวิถีชีวิตของผู้ประสบภัยกว่า 2.4 ล้านคนในพม่ายังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยผู้คนจำนวนมากยังต้องอาศัยอยู่ในเพิงพักชั่วคราวและมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น

ด้วยพิษสงที่ทรงอานุภาพของไซโคลนนาร์กิสทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกบันทึกว่า เป็นวาตภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีของประเทศพม่าและอาจรุนแรงที่สุดในแถบประเทศเอเชียที่เคยเผชิญกับวาตภัยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาก็เป็นได้

3. แผ่นดินไหว: จีนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด รับโศกนาฏกรรมธรณีวิปโยค

บัลลังก์มังกรต้องสั่นคลอนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ ที่มณฑลเสฉวนของจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 88,000 คน และมีผู้บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 375,000 คน ขณะที่ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยจำนวน 5 ล้านคน และอีกเกือบ 1.5 ล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่น ขณะที่ทางการประเมินตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงถึง 124,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความน่าสะพรึงกลัวของเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้สำนักข่าวเอพีประกาศผลการจัดอันดับ 10 ข่าวเด่นแห่งปีโดยมีข่าวโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ถล่มมณฑลเสฉวนรั้งอยู่ในอันดับ 6 ขณะที่นิตยสารไทม์จัดให้เหตุการณ์แผ่นดินไหวจีนรั้งอันดับ 10 ร่วมกับเหตุพายุไซโคลนนาร์กิสในการจัดอันดับสุดยอดข่าวจากทั่วโลกประจำปีนี้เช่นกัน

4. คลื่นความร้อน...ผู้สูงวัยในสหรัฐ-กรีซ สังเวยชีวิตจากคลื่นร้อนมรณะ

ราวเดือนมิถุนายน 2551 ชาวสหรัฐที่พำนักอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศต้องใช้ชีวิตท่ามกลางหยาดเหงื่อแห่งความร้อนระอุที่เปียกชุ่มทั่วร่างกาย จากยมทูตที่ชื่อ "คลื่นความร้อน" ที่ได้นำความตายมาให้ผู้สูงวัยโดยไม่ได้รับเชิญ เมื่อมีข่าวว่า ชายสูงอายุวัย 65 ปีที่กำลังนอนอาบแดดที่เมืองพอตส์ทาวน์ของรัฐเพนซิลวาเนียนั้นต้องสังเวยชีวิตให้กับสภาพอากาศที่ร้อนถึงขีดสุดในปีนี้ ขณะที่แพทย์เปิดเผยว่ามีเหยื่อผู้สูงอายุเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน 30 ราย เคราะห์ดีที่เหตุการณ์ในปีนี้มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเมื่อปลายเดือนก.ค.-ส.ค.ปี 2549 ที่มีชาวนิวยอร์กเสียชีวิต 100 ราย ขณะที่ชาวกรีซเองก็เผชิญสภาพอากาศที่เลวร้ายจากคลื่นความร้อนระลอกแรกของฤดูร้อนปีนี้ ด้วยอุณหภูมิที่พุ่งขึ้นสูงถึง 41 องศาเซลเซียส

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหนึ่งในผลพวงของภาวะโลกร้อน ซึ่งแอนเดรียส สเติร์ลนักวิจัยของราชบัณฑิตยสถา ด้านอุตุนิยมวิทยาของเนเธอร์แลนด์ (Royal Netherlands Meteorological Institute) ได้คำนวณถึงการเกิดคลื่นความร้อนซึ่งตีพิมพ์ในวารสารจีโอฟิสิคัล รีเสิร์ช เลตเตอร์ส (Geophysical Research Letters)ว่า ปลายศตวรรษนี้หลายเมืองใหญ่ทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะเกิดคลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส

5. พายุโซนร้อน-เฮอริเคน: เฮติต้องคำสาป...ชายฝั่งสหรัฐพังราบเป็นหน้ากลอง

พายุโซนร้อนเฟย์ เฮอริเคนกุสตาฟ พายุฮันนา และเฮอริเคนไอค์ ที่ล้วนก่อตัวขึ้นจากมหาสมุทรแอตแลนติกพาเหรดพัดกระหน่ำเฮติลูกต่อลูกตลอดทั้งเดือนสิงหาคม — กันยายน 2551 และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 800 คน ขณะที่ประชาชนนับล้านไร้ที่อยู่อาศัย ซ้ำร้ายยังขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด และเสื้อผ้า นอกจากนี้ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจยังมีการประเมินได้เกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากเฮติแล้ว พื้นที่ตอนใต้ทางชายฝั่งรัฐเท็กซัสของสหรัฐและเมืองนิวออร์ลีนส์ก็ต้องยอมศิโรราบให้กับอิทธิพลของพายุเฮอริเคน "ไอค์" ที่ถือเป็นพายุที่สร้างความเสียหายสูงสุดอับดับที่ 4 ในประวัติศาสตร์สหรัฐ รวมถึงพายุเฮอริเคน "กุสตาฟ" ที่ทำให้ทางการสหรัฐวิตกว่า อาจเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยพายุเฮอริเคนแคทริน่าเมื่อ 3 ปีก่อนจนต้องส่งกำลังทหารนับพันนายมายังเมืองนิวออร์ลีนส์ เพื่อดำเนินการอพยพประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

ยิ่งไปกว่านั้น พายุเฮอริเคนไอค์ยังสำแดงเดชไปทั่วทุกภาคธุรกิจของสหรัฐทั้งธุรกิจน้ำมันที่ทำให้บริษัทผลิตน้ำมันนอกชายฝั่งในอ่าวเม็กซิโกพากันปิดโรงกลั่น 13 โรงที่มีกำลังผลิตรวมกันวันละ 3.7 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของกำลังผลิตทั้งหมดของสหรัฐซึ่งกดดันให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจประกันภัยก็โดนหางเลขด้วยการจ่ายเงินค่าเคลมประกันสูงถึง 6,000-18,000 ล้านดอลลาร์

6. พายุไต้ฝุ่น: ไต้หวันระทมทุกข์...เหยื่อมฤตยูสามลูกซ้อน

ในยามที่พายุเฮอริเคนกำลังแผลงฤทธิ์อย่างบ้าคลั่งที่ฟากฝั่งอเมริกา พายุไต้ฝุ่นก็ดาหน้าพัดถล่มประเทศในเอเชียอย่างหนักไม่แพ้กัน เริ่มต้นด้วยพายุไต้ฝุ่น "คัลเมจิ" ที่นำร่องซัดไต้หวันเมื่อกลางเดือนกันยายน ก่อนที่พายุไต้ฝุ่น "ซินลากอ" ซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกจะกระหน่ำซ้ำเติมและตบท้ายด้วยพายุไต้ฝุ่น "ฮากุปิต" ซึ่งล้วนแต่สร้างความเสียหายให้กับดินแดนไต้หวันอย่างหนักหน่วง

ร่องรอยความเสียหายของพายุทั้งสามลูกนี้ดูได้จากปริมาณน้ำฝนที่วัดได้กว่า 1,000 มิลลิเมตร และทำให้เกิดไฟฟ้าดับจนส่งผลให้ประชาชนกว่า 1 แสน 2 หมื่นครัวเรือนไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ขณะที่เที่ยวบินทั้งในเกาะไต้หวันและเที่ยวบินจากต่างประเทศหลายร้อยเที่ยวบินต้องถูกยกเลิก การจราจรบนทางหลวง 20 สายเกิดติดขัดเพราะดินถล่ม ที่สำคัญคือมี ผู้เสียชีวิตจากพายุไต้ฝุ่นทั้งสามรวมกันหลายสิบคน ขณะที่ประชาชนในพื้นที่แถบภูเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่เลวร้าย โดยพายุดังกล่าวได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูกคิดเป็นมูลค่ากว่า 26.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 900 ล้านบาท

7. สตอร์ม เซิร์จ: ชาวกรุงเทพผวาปรากฏการณ์คลื่นซัดเข้าฝั่ง

"กรุงเทพฯอาจเลือนหายไปจากแผนที่ประเทศไทย" กลายเป็นคำเตือนที่สร้างความหวาดผวาให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานคร เมื่อดร.สมิทธ ธรรมสโรช ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผู้ที่เคยพยากรณ์เหตุการณ์ "สึนามิ" เมื่อหลายปีก่อนออกมาเตือนว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ในเดือนสิงหาคม -ตุลาคมจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า "ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น" พัดถล่มอ่าวไทย ไล่ตั้งแต่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และเพชรบุรี และทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น หรือสตรอม เสิร์ช (Storm Surge) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์คลื่นที่เกิดขึ้นพร้อมกับพายุหมุนโซนร้อนโดยจะยกระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นและไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง

แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วเหตุการณ์นี้จะไม่ได้เกิดขึ้นรุนแรงอย่างที่หลายคนหวั่นวิตก แต่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้วยสติและใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น คำเตือนของดร.สมิทธที่ออกมาให้ข้อมูลด้วยความเป็นห่วง จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าต่อการรับฟัง เพราะหากเกิดปรากฏการณ์สตอร์มเสิร์ช ขึ้นมาจริงๆ มฤตยูคลื่นซัดเข้าฝั่งลูกนี้จะรุนแรงกว่าสึนามิหลายเท่า ขณะที่อำนาจการทำลายล้างอาจเทียบเท่าไซโคลนนาร์กิสในพม่า

8. ไฟป่า: ความเกรี้ยวกราดแห่งเพลิงอัคคีที่แคลิฟอร์เนีย

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แคลิฟอร์เนียกลายเป็นดินแดนต้องห้ามอีกหนึ่งแห่งบนแผนที่โลก เมื่อวิกฤตไฟป่าเป็นเหตุให้เกิดหายนะภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี อันเป็นผลจากสภาพอากาศที่แล้งจัดประกอบกับภาวะลมแรงกว่า 100 กม/ชม.จนทำให้เกิดเปลวเพลิงปะทุขึ้นกว่า 1 พันจุดทางตอนเหนือของรัฐและแผดเผาพื้นที่ป่าไปราว 7 แสนไร่ให้กลายเป็นเถ้าถ่าน ซ้ำยังเผาผลาญบ้านเรือนในนครลอสแองเจลิสและซานตา บาร์บาราไปกว่า 800 หลัง

วิกฤตไฟป่าในปีนี้เกิดขึ้นยาวนานมาถึงเดือนพฤศจิกายน ทั้งๆที่โดยปกติแล้วฤดูไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียมักเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ทางการสหรัฐมีคำสั่งทางการมีคำสั่งให้ประชาชน 5 หมื่นครัวเรือนที่อยู่ในรัศมีไฟไหม้นั้นอพยพออกจากพื้นที่พร้อมทั้งเตือนให้ประชาชนอีก 1,400 ครัวเรือนเฝ้าระวังภัยป่า เนื่องจากสิ่งที่เจ้าหน้าที่วิตกกังวล คือ จุดที่ไฟลุกลามครั้งนี้อยู่ในเขตที่อยู่อาศัย และเป็นผืนดินที่ไม่ได้เกิดไฟไหม้มานานถึงครึ่งศตวรรษ

9. อุทกภัย: นครเวนิสจมบาดาล...เวียดนามน้ำท่วมฉับพลัน

เวนิส หนึ่งในดินแดนของอิตาลีที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์ของโลกและเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนได้มากกว่าปีละ 16 ล้านคนกำลังกลายเป็นเมืองใต้บาดาลไปทุกขณะ หลังจากที่นครเวนิสแห่งนี้เผชิญกับเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบกว่า 20 ปีในช่วงต้นเดือนธันวาคม จากพายุฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจนส่งผลให้ระดับน้ำท่วมสูงถึง 1.56 เมตร

อุทกภัยที่เกิดขึ้นกับเวนิสเปรียบเสมือนการตอกย้ำสมมติฐานขององค์การยูเนสโกที่เตือนว่า เมืองเวนิสอาจเป็นหนึ่งในมรดกโลกที่ถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หลังจากที่ประสบเหตุอุทกภัยบ่อยครั้งนับตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 13 อีกทั้งสถิติน้ำท่วมที่น่าหวั่นวิตกก็ระบุไว้ว่าเมื่อปี 2532 เวนิสเผชิญน้ำท่วม 40 วัน แต่ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 99 วันในปี 2539 และขยับขึ้นเป็น 120 วันในปี 2544 และที่ร้ายไปกว่านั้น คือ มีการคาดว่าเวนิสจะเผชิญน้ำท่วมทุกวันในปี 2050

นอกจากยุโรปแล้ว เพื่อนบ้านของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามก็เผชิญกับเหตุน้ำท่วมเฉียบพลันที่มาจากภาวะฝนตกหนักที่สุดในรอบ 35 ปี โดยพายุฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมทำให้บ้านเรือนพังยับเยินราว 55,000 หลัง และเรือกสวนไร่นากว่า 440,000 เอเคอร์ ได้รับความเสียหาย ส่วนเส้นทางสายหลักหลายแห่งถูกตัดขาดทำให้มีผู้ติดอยู่ในที่เกิดเหตุจำนวนมาก และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 92 ราย

10. พายุฤดูหนาว: ภูมิประเทศลาสเวกัสกลับตาลปัตร...จากผืนทะเลทรายกลายเป็นเมืองหิมะ

ลาสเวกัส เมืองหลวงแห่งโลกการพนันในรัฐเนอร์วาดาเผชิญกับความวิปลาสของสภาพอากาศในยามที่ทั่วโลกกำลังเพลิดเพลินกับของการเฉลิมฉลองส่งท้ายปี เมื่อพื้นที่ในนครแห่งการพนันซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในอเมริกาเหนือนั้นกำลังเผชิญกับหิมะตกหนักครั้งแรกในรอบ 30 ปี จากพื้นปฐพีที่แห้งผากด้วยทะเลทรายกลับกลายเป็นหิมะที่ปกคลุมหนาราว 7.5 ฟุต ขณะที่ป้าย "ยินดีต้อนรับสู่เมืองลาสเวกัสอันเลิศหรู" ท่ามกลางความขาวโพลนของหิมะ ได้กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวแห่งใหม่แทนบ่อนคาสิโนไปในบัดดล

นอกจากนี้ สภาพอากาศที่เลวร้ายในช่วงปลายปีทำให้การบินของสหรัฐปั่นป่วน โดยสนามบินนานาชาติแมคคาร์เรน ต้องปิดให้บริการ ขณะที่มีการยกเลิกเที่ยวบินกว่า 500 เที่ยว

ภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นในรอบปีนี้ เปรียบเสมือนสัญญาณอันตรายที่ชวนให้ย้อนนึกถึงทฤษฎีสุดฮือฮาที่ชนเผ่ามายันทำนายไว้ว่า โลกจะถึงคราวแตกดับในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ขณะที่เซอร์ ไอแซค นิวตัน บิดาแห่งฟิสิกส์และดาราศาสตร์ยุคใหม่ทำนายว่าโลกจะถึงกาลอวสานในปีพ.ศ. 2603 และเมื่อเวลานั้นมาถึง เราทุกคนคงทำได้เพียงก้มหน้ารับชะตากรรมและยอมรับความเป็นจริงว่า มนุษย์อาจฝืนธรรมชาติได้บางครั้ง...แต่มิอาจเอาชนะธรรมชาติได้แม้แต่ครั้งเดียว!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ