นโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 29-30 ธ.ค.51 มีทั้งหมด 36 หน้า ดำเนินการภายใต้แนวทางพื้นฐานหลัก 4 ประการ คือ ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์, สร้างความปรองดองสมานฉันท์, ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาประชาธิปไตยและระบบการเมือง
"นโยบายดังกล่าวที่รัฐบาลจัดทำขึ้น สืบเนื่องจากเห็นว่าสังคมขณะนี้เกิดความขัดแย้งรุนแรง อีกทั้งมีวิกฤติเศรษฐกิจโลกซึ่งจะเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้จากดัชนีหุ้นเข้าสู่จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี, ตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ย.51 ลดลงถึง 18.6%, นักท่องเที่ยวในเดือน ก.ย.51 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.5%, การลงทุนช่วง 11 เดือนแรกลดลง 40% ตลอดจนประมาณการณ์รายได้ในปีงบประมาณ 52 จะต่ำกว่าประมาณการณ์ 10% แนวโน้มการว่างงานจะเพิ่มขึ้นจาก 5 แสนคนเป็น 1 ล้านคน"แนวนโยบาย ระบุ
รัฐบาลกำหนดนโยบายหลัก 8 ด้าน ได้แก่ 1.นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก, 2.นโยบายความมั่นคงของรัฐ, 3.นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต, 4.นโยบายเศรษฐกิจ, 5.นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 6.นโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม, 7.นโยบายการต่างประเทศ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ 8.นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
การดำเนินนโยบายแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีแรก และระยะการบริหารราชการ 3 ปี โดยนโยยายเร่งด่วนมี 4 เรื่อง คือ 1.การสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชนและประชาชนในการลงทุนและการบริโภค เช่น การเสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติ, การตั้งสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรถาวร, ปฏิรูปการเมือง, สร้างความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาชาวโลก, ฟื้นฟูวิกฤติเศรษฐกิจ, สร้างความเชื่อมั่นและเร่งรัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว, เร่งลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ
2.การรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน ได้แก่ การร่วมมือกับภาคเอกชนดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้าง, ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้าเพื่อรองรับการว่างงาน, เร่งรัดช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง, สร้างหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุ, เพิ่มมาตรการด้านการคลัง, สร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก เป็นต้น
3.การลดภาระค่าครองชีพ ได้แก่ การเรียนฟรี 15 ปี, ดูแลราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค, ใช้กองทุนน้ำมันรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และ 4.การตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจและคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.)
3.นโยบายความมั่นคงของรัฐ เช่น การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว, การเสริมสร้างสันติภาพการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน, นโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เช่น นโยบายด้านการศึกษา, ด้านแรงงาน, ด้านสาธารณสุข, ด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรม, สวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ด้านกีฬาและนันทนาการ
4.นโยบายด้านเศรษฐกิจ เช่น การบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินในประเทศ พัฒนาตลาดทุนและสถาบันการเงินให้เข้มแข็ง ส่งเสริมและรักษาวินัยการคลัง ปรับปรุงโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บภาษี กำหนดกรอบการลงทุนภาครัฐให้มีความชัดเจน และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคการเกษตร ปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ ดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และการเพิ่มมูลค่าสินค้า จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอและทั่วถึง ตลอดจนการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร, ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การปรับปรุงคุณภาพสินค้า การผลิตบุคคลากรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในภาคใต้และชายแดน,ภาคท่องเที่ยวและบริการ จะมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติม ทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว พัฒนาคุณภาพมักคุเทศน์และบุคคลกรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว, ภาคการตลาด การค้า และการลงทุน โดยส่งเสริมการค้าเสรี ขยายตลาดส่งออกใหม่ ใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ ขยายระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การพัฒนาและเชื่อมโยงระบบโลจิสติกท์
การพลังงาน จะมุ่งเน้นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีพลังงานเพียงพอและมีเสถียรภาพ มุ่งเน้นการนำพลังงานทดแทนให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมและอนุรักษ์การประหยัดพลังงาน กำกับดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น การพัฒนาโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมกัน และการพัฒนาบุคลากร
5.นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้แก่การคุ้มครองและอนุรักษ์ป่าไม้ และสัตว์ป่า ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรธรณี ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการจัดระบบป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ การควบคุมปริมาณของเสีย การพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6.นโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการวิจัยตามแนวพระราชดำริ การเร่งรัดผลิตบุคลากร และจัดให้มีกองทุนวิจัยร่วมภาครัฐและเอกชน
7.นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้แก่ การพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียนในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือกับกลุ่มประเทศมุลสิม
8.นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน โดยดูแลเรื่องค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความเหมาะสม การบริหารงานที่โปร่งใส การกระจายอำนาจ เรื่องกฎหมายและการยุติธรรม จะปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยเพื่อป้องกันปัญหาการคอรัปชั่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและปรับปรุงกลไกสื่อภาครัฐให้มีบทบาทเพื่อประโยชน์สาธารณะ