ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่องความชอบธรรมในระบบประชาธิปไตย กับการเข้าสู่อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ ในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,169 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2551-3 มกราคม 2552 พบว่า เมื่อถามถึงการคาดการณ์ต่อสังคมไทยในปี พ.ศ.2552 ในมุมมองของประชาชนต่อเรื่องบรรยากาศทางการเมือง สถานการณ์เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของคนในสังคม วัฒนธรรมประเพณีไทย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.5 คาดว่าบรรยากาศทางการเมืองจะแย่ลง และร้อยละ 24.6 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม ในส่วนของความชอบธรรมของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าสู่อำนาจหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.9 ระบุว่า มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ร้อยละ 14.4 ระบุว่า ไม่มีความชอบธรรม
เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามออกตามภูมิภาค พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคมองว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว คือภาคเหนือร้อยละ 68.0 ภาคกลางร้อยละ 73.8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 55.2 ภาคใต้ร้อยละ 88.8 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 63.1
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชนว่าอยู่ฝ่ายใด ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.9 ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คือ ขอเป็นเพียงพลังเงียบ ในขณะที่ ร้อยละ 26.4 สนับสนุนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 5.7 ไม่สนับสนุน