นายกฯ ขอความร่วมมือข้าราชการเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายรัฐ-อย่าแบ่งฝ่าย

ข่าวทั่วไป Tuesday January 6, 2009 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการเพื่อชี้แจงนโยบายของรัฐบาลและแนวทางการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยระบุว่ารัฐบาลมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาของประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติ ตลอดจนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ลุล่วง แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ช่วยกัน เพราะลำพังรัฐบาลเองคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สำเร็จได้ ซึ่งต้องอาศัยฝ่ายปฏิบัติที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อเป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

"การกำหนดนโยบายของฝ่ายการเมืองที่เสริมจากการดำเนินการในรัฐธรรมนูญนั้นถูกกำหนดโดยสถานการณ์ของประเทศ ซึ่งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่กำหนดเวลาดำเนินการใน 1 ปีนั้นเป็นจุดที่สำคัญ วันนี้ปัญหาเศรษฐกิจ และการเมืองถ้าเราไม่ร่วมกันทำงานหนัก ก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จตามเป้า"นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลภายใน 1 ปีที่มุ่งแก้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศนั้น จะไม่มุ่งหวังแค่การออกมาตรการมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว แต่ทางตรงกันข้ามจะออกมาตรการที่ช่วยปูทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนของประเทศด้วย

ทั้งนี้ ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้เห็นแล้วว่าวิกฤติเศรษฐกิจจากภายนอกได้ส่งผลกระทบมาถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทย ดังจะเห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ทยอยออกมาในลักษณะที่ถดถอยหรือชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคในประเทศ, การลงทุนภาคเอกชน, การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล, การส่งออก และยอดนักท่องเที่ยว เป็นต้น

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางเวลาที่มีไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท คาดว่ากว่าจะใช้เม็ดเงินได้จริงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน นอกจากนี้จะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ยังมีงบตกค้างอีกอย่างน้อยเป็นหลักแสนล้านบาท ตลอดจนดูแลภาคเอกชนให้มีสินเชื่อและสภาพคล่องที่สามารถหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้

ขณะเดียวกันจะดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่ง 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคนนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งโดยหลักการแล้วรัฐบาลชุดนี้จะสานต่อ แต่อาจจะปรับปรุงรายละเอียดเงื่อนไขบางมาตรการให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น แต่มาตรการที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปเลย คือ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เนื่องจากปัจจุบันไม่มีความจำเป็นแล้วเพราะราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาก ประกอบกับรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องนำรายได้ไปใช้ในการดำเนินโครงการต่างๆ

สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านแผนการบริหารราชการแผ่นดินนั้น จะมีความครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มเกษตร ซึ่งนอกจากจะมีนโยบายเฉพาะหน้าในการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรแล้ว ระยะยาวยังต้องมีการประกันภัยสินค้าเกษตรเพื่อลดความเสี่ยงให้แก่ผลผลิตต่างๆ ที่เป็นการวางระบบในระยะยาว

กลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยรัฐบาลจะสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ผู้ประกอบการลดการเลิกจ้าง การให้ความสำคัญกับแรงงานสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศ, กลุ่มเด็กนักเรียน-ผู้ปกครอง ที่รัฐบาลจะเร่งโครงการศึกษาฟรี 12 ปี ให้เริ่มได้ใน พ.ค.52 , กลุ่มผู้สูงอายุ ที่รัฐบาลจะขยายเบี้ยยังชีพให้เป็นสิทธิของผู้สูงอายุทุกคนที่มาขึ้นทะเบียนไว้ ตลอดจนกลุ่มธุรกิจเอกชน โดยหามาตรการช่วยเหลือทางด้านภาษี, สินเชื่อ และให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาแผนการบริหารราชการแผ่นดินในวันที่ 13 ม.ค.นี้ ดังนั้นหัวหน้าส่วนราชการจะต้องส่งแผนการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานมาให้ภายในวันที่ 9 ม.ค.

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่ารัฐบาลคงไม่สามารถทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดหมดไปได้ แต่รัฐบาลจะพยายามขีดวงของความขัดแย้งให้จำกัดอยู่แค่ในวงของการเมืองเท่านั้น ไม่ให้ลุกลามไปยังภาคอื่นๆ พร้อมวิงวอนให้แต่ละฝ่ายยอมรับการทำหน้าที่ของอีกฝ่าย เช่น รัฐบาลต้องยอมรับการตรวจสอบของฝ่ายค้าน ขณะที่ฝ่ายค้านต้องยอมรับการบริหารงานของรัฐบาลด้วย

"รัฐบาลยืนยันชัดเจนว่าคงไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งทางความคิดหมดไปได้ แต่จะพยายามขีดวงจำกัดให้อยู่แค่ในการเมือง และไม่รุนแรงออกกไป และขอให้แต่ละฝ่ายยอมรับการทำหน้าที่ของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังได้ฝากไปถึงข้าราชการทุกคนว่าต้องเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่จะต้องเป็นกลไกที่นำนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้หากข้าราชการเห็นว่าสิ่งใดที่รัฐบาลดำเนินการแล้วเป็นการแสวงผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง ก็ขอให้ร้องเรียนมาถึงนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ