เทศกาลตรุษจีนในแดนมังกรปีนี้ดูเหมือนว่า อาหวาง กับอาหลิว จะมีชะตาชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ภาพการเดินทางกลับบ้านเพื่อฉลองตรุษจีนของชายชาวจีนทั้ง 2 คน สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางสังคมและเศรษฐกิจในแดนมังกร แน่นอนที่ธรรมเนียมประเพณีในการกลับมารวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัวในวันแรกของฤดูใบไม้ผลิของจีนนั้นยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคม แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มกราคม ก็คือ วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อชาวจีนและบรรยากาศการเดินทางกลับไปรวมญาติในแดนมังกร
กรมศุลกากรจีนระบุว่า ยอดส่งออกสินค้าของจีนเมื่อเดือนธ.ค. 2551 ร่วง 2.8% หลังจากที่หดตัวลง 2.2% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือนครึ่ง ส่งผลให้โรงงานหลายพันแห่งทั่วประเทศจีนต่างลดเวลาการทำงาน ลดการจ้างงาน หรืออาจถึงกับต้องปิดโรงงาน เนื่องจากยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของจีนร่วงลงอย่างหนัก แม้ว่ารัฐบาลจีนจะประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม
แรงงานอพยพที่เดินทางมาทำงานอยู่ในปักกิ่งเมืองหลวง และเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งมณฑลหลักๆที่เป็นฐานการส่งออก เช่น กวางตุ้ง ต้องเลือกที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเร็วขึ้น เพื่อที่จะกลับมาใช้ชีวิตในชนบทช่วงตกงาน และแน่นอนเพื่อฉลองตรุษจีนกับครอบครัว
สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า แรงงานจีนที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ต่างกุลีกุจอจองตั๋วรถไฟเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงตรุษจีนเอาไว้แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา บริษัทรถไฟในปักกิ่งรายงานว่า ยอดจองตั๋วรถไฟเมื่อวันที่ 1 มกราคมนั้นสูงถึง 130,000 ใบ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเดินทางปกติต่อวันถึงกว่า 38,000 ใบ สถานีรถไฟในปักกิ่งคาดว่า จะต้องรองรับผู้โดยสารเกือบ 10 ล้านคนช่วงตรุษจีน ซึ่งเป็นตัวเลขที่พุ่งขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ปกติการจราจรในจีนจะหนาแน่นและคึกคักเป็นพิเศษในช่วงก่อนตรุษจีน 2 สัปดาห์ แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่ต้นเดือนเป็นต้นมาแรงงานที่เข้ามาทำงานในเมืองอุตสาหกรรมต่างก็ทยอยเดินทางกลับบ้านกันแล้ว “หวาง" และญาติๆ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานท้องถิ่นที่เข้ามาทำงานอยู่ที่กวางตุ้งและต้องออกเดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนา หวางและญาติๆ ได้ขนข้าวของกลับบ้านเป็นจำนวนมาก ทั้งทีวี พัดลม หม้อหุงข้าว และสัมภาระอื่นๆ ดูๆไปแล้วเหมือนกับหวางเดินทางเพื่อย้ายบ้านมากกว่าที่จะเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน หวางให้เหตุผลเรื่องการขนข้าวขนของมากมายติดตัวไปด้วยว่า ตนเองอาจจะไม่ได้กลับมาทำงานก่อสร้างที่กวางโจวอีก เนื่องจากโรงงานได้ลดค่าแรงลงถึงครึ่งหนึ่งเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ รายได้ที่ลดลงไปนี้ไม่สามารถจุนเจือครอบครัวให้ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่มีค่าใช้จ่ายสูงต่อไปได้ ดังนั้น หวางและญาติๆจึงต้องหอบเอาสัมภาระที่มีอยู่กลับภูมิลำเนาในช่วงก่อนตรุษจีน
หวางยังโชคดีที่สามารถจองตั๋วรถไฟกลับบ้านได้ แรงงานต่างถิ่นของจีนบางรายที่ไม่สามารถจองตั๋วได้เพราะมีเงินไม่พอ ต้องจำใจเลือกวิธีเดินทางกลับบ้านเกิดพร้อมครอบครัวด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ 3 ล้อ บรรทุกสัมภาระที่มีอยู่กลับบ้าน ทั้งที่ระยะทางจากเมืองชานโต ซึ่งอยู่ในบริเวณชายฝั่งของกวางตุ้งนั้นกินระยะทางถึง 1,875 ไมล์ และคาดว่าจะใช้ระยะเวลามากกว่า 2 สัปดาห์จึงจะถึงถิ่นฐานบ้านเกิด
กวางโจว เป็นเมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออกของจีน มีสัดส่วนการค้ากับต่างประเทศมากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณการค้าของจีนกับต่างประเทศในปีที่แล้ว มีแรงงานจากต่างถิ่นเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมากถึง 26.7 ล้านคน เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวอย่างร้อนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาดึงดูดให้เกษตรกรในชนบทเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ เช่นเดียวกับหวางที่มีรายได้จากงานก่อสร้างกว่า 1,400 หยวน หรือประมาณ 205 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีกว่าการทำงานด้านการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรของจีนระบุว่า รายได้ต่อหัวของเกษตรกรจีนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,700 หยวน หรือ 688 ดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว นับเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่ารายได้ของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ถึง 1 ใน 3
ขณะที่ชนชั้นแรงงานต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่แน่นอนและจำใจต้องขนข้าวของกลับไปอยู่บ้านเกิดอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ชาวจีนชนชั้นกลางในเมืองใหญ่บางคนกลับมีปัญหาในมุมที่กลับตาลปัตรสำหรับการเดินทางกลับบ้านช่วงตรุษจีน “หลิว ฟาก่าย" ผู้จัดการฝ่ายขายหนุ่มโสดจากมณฑลเจ้อเจียงห่วงว่า จะไม่มีหวานใจเดินทางกลับบ้านไปอวดพ่อแม่ในช่วงตรุษจีน จึงลงทุนลงโฆษณาผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพื่อหาคู่ชั่วคราว โดยให้เงินรางวัลถึง 9,500 หยวน หรือ 1,400 ดอลลาร์ในการแสร้งทำเป็นคู่รักเพื่อเดินทางกลับบ้านพร้อมกับตนเองในช่วงตรุษจีน และลงรายละเอียดของหมายกำหนดการกิจกรรมรายวันและการรับประกันความปลอดภัยต่างๆนานา
หนุ่มสาวชาวจีนที่มีอายุเฉียด 30 หรือ 40 ปี และยังเป็นโสดนั้น การกลับบ้านตัวคนเดียวช่วงตรุษจีนดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่กดดันและถูกจับตาจากสังคม ซึ่งจะเห็นได้จากการลงโฆษณาหาคู่จำนวนมากทางอินเทอร์เน็ตของสาวชาวจีนที่รู้สึกกดดันว่าจะต้องหาคู่เพื่อแต่งงานให้ได้ในช่วงอายุ 30 ปี เช่นเดียวกับหนุ่มจีนที่หันมาลงโฆษณาหาคู่ทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
หลิวเผยความในใจว่า เขาไม่อยากใช้เวลาในช่วงตรุษจีนเพียงลำพัง และรู้สึกกดดัน ไม่ว่าจะไปงานแต่งงานของเพื่อนหรืองานเลี้ยง แล้วไปตัวคนเดียวมักจะรู้สึกอึดอัด ด้วยเหตุนี้เขาจึงตัดสินใจลงโฆษณาในอินเทอร์เน็ต ตอนแรก หลิวเสนอเงินรางวัลล่อใจ 1,200 หยวน หรือ 170 ดอลลาร์ต่อวัน แต่ไม่มีเสียงตอบรับจากสาวๆมากนัก เขาจึงเพิ่มราคาค่าตัวหวานใจทางอินเทอร์เน็ตเป็น 3,600 หยวน หรือ 500 ดอลลาร์ต่อวัน และสุดท้ายเพิ่มมาเป็น 9,500 หยวน หรือ 1,400 ดอลลาร์ ผลปรากฏว่ามีผู้ตอบรับมาข้อเสนอกว่า 400 รายในช่วงเวลาแค่ 3 วัน และเขาก็ได้นัดพบเพื่อพูดคุยและดูหน้าค่าตาว่าที่หวานใจไปแล้ว 20 คน รายงานไม่ได้บอกว่า หลิวตกลงเลือกใคร แต่เรื่องราวของแรงงานต่างถิ่นและผู้จัดการฝ่ายขายก็ดูเหมือนว่าจะสะท้อนให้เห็นภาพความแตกต่างอย่างสุดขั้วในจีนได้ในระดับหนึ่ง
ถึงแม้ว่า อาตี๋ อาหมวยในแดนมังกรจะต้องเผชิญกับวิกฤตไปคนละแบบ แต่ก็ใช่ว่า ตรุษจีนปีนี้จะไม่คึกคักเลยเสียทีเดียว ล่าสุด ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงแพนด้ายักษ์เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนก็เตรียมความพร้อมเพื่อเปิดโชว์ตัวลูกแพนด้า จำนวน 13 ตัวที่เกิดเมื่อปีที่แล้วให้เด็กๆและผู้ใหญ่ได้ชื่นชมกับความน่ารัก ขณะที่นายหวัง ฉีฟะ รองผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยวแห่งชาติของจีนชี้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนจะเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นวิถีชีวิตในเทศกาลวันหยุดของชาวจีน ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันแนบแน่นขึ้นทั้งในด้านการเมืองและการค้า นับตั้งแต่นายหม่า อิง จิว ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวัน ก็น่าจะทำให้ชาวจีนออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังฮ่องกง มาเก๊า และประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ราคาเที่ยวบินโดยตรงระหว่างจีนและไต้หวันปรับตัวลดลงแล้ว
เมื่อมองออกไปนอกม่านไม้ไผ่ก็จะเห็นว่า ไต้หวันเองก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเช่นกัน ส่งผลให้รัฐบาลไต้หวันต้องออกมาแจกคูปองเงินสดให้ประชาชนนำไปจับจ่ายใช้สอยรับเทศกาลตรุษจีน มูลค่ารวมกว่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถือว่าเป็นการช็อปช่วยชาติรับตรุษจีน งานนี้ไม่ใช่แค่ชาวบ้านทั่วไปที่ได้รับสิทธิ์เท่านั้น แม้แต่ประธานาธิบดี หม่า อิงจิว ก็ได้คูปองเช่นกัน
ผู้นำไต้หวันมองว่า ถึงแม้มูลค่าคูปองจะไม่สูงนัก แต่หากให้ประชาชนช่วยกันใช้จ่ายมากๆ โดยอาจควักเงินสดสมทบเข้าไปด้วย ก็จะมีส่วนช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจของไต้หวัน โดยคูปองที่ให้กับประชาชน 23 ล้านคนนี้ คิดเป็นมูลค่าคนละ 3,600 ดอลลาร์ไต้หวัน (107 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสามารถใช้แลกซื้อสินค้าในร้านค้าปลีก ภัตตาคาร และซูเปอร์มาร์เก็ต
สถานการณ์นี้ดูๆไปก็คลับคล้ายคลับคลากับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเป็นหัวข้อถกเถียงกันในบ้านเรา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มาตรการเหล่านี้จะส่งผลเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ร้องเพลงรอกันอยู่นี้ ก็ขอให้ผู้อ่านทุกคนเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกันอย่างมีความสุข และขอให้ ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ กันถ้วนหน้า