ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง 1 เดือนรัฐบาลกับการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 68.1% เห็นว่ายังไม่ควรปรับ ครม.ในช่วงนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นานควรต้องให้เวลานานกว่านี้ อีกทั้งหลักฐานความผิดของรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหายังไม่ชัดเจน
ขณะที่อีก 31.9% เห็นว่าควรจะปรับ โดยรัฐมนตรีที่ประชาชนมองว่าควรถูกปรับออกมากที่สุด คือ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ รองลงมา คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
สำหรับข้อเรียกร้อง 4 ข้อของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ที่เสนอให้รัฐบาลดำเนินการนั้น พบว่าข้อเรียกร้องที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยมากที่สุด คือ การให้ดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บุกยึดทำเนียบรัฐบาล, สถานีโทรทัศน์ NBT และสนามบินแห่งชาติ
ทั้งนี้ นปช.ได้เสนอข้อเรียกร้อง 4 ข้อแก่รัฐบาลให้ดำเนินการ คือ 1.ดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่บุกยึดทำเนียบรัฐบาล, สถานีโทรทัศน์ NBT และสนามบินแห่งชาติ, 2.ปลดนายกษิต ภิรมย์ ออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ, 3.ให้รับร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(คปพร.) หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วกลับไปใช้ฉบับปี 40 และ 4.ให้ประกาศยุบสภาทันทีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่
ส่วนความเห็นต่อการนัดชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่ประกาศจะชุมนุมยืดเยื้อหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอ 4 ประการภายใน 15 วันนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 76.3% ไม่เห็นด้วย โดยมองว่ากลัวจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและส่วนรวม
อย่างไรก็ดี ประชาชนได้ให้คะแนนความพึงพอใจรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไว้ที่ 5.42 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10
การสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวมาจากประชาชนในกรุงเทพฯ ทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,254 คน ระหว่างวันที่ 2-3 ก.พ.ที่ผ่านมา