สถิติเผยยอดหนี้ ขรก.ปี 51 พุ่ง 18 เท่าของรายได้ ซี 3-5 สร้างหนี้มากสุด

ข่าวทั่วไป Thursday February 5, 2009 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการสำรวจภาวะค่าครองชีพปี 51 ของข้าราชการพลเรือนสามัญ(ในสังกัด ก.พ.) พบว่า ครอบครัวข้าราชการในสังกัด ก.พ. ระดับ 1-11 ทั่วประเทศถึง 84% มีหนี้สินเฉลี่ย 749,771 บาท/ครอบครัวที่มีหนี้สิน โดยข้าราชการระดับ 3-5 ซึ่งกลุ่มที่มีสัดส่วนมีหนี้สินมากสุด มีหนี้สินเฉลี่ย 614,109 บาท/ครอบครัว รองลงมาคือข้าราชการระดับ 6-8 มีหนี้สินเฉลี่ย 847,003 บาท/ครอบครัว และระดับ 1-2 มีหนี้เฉลี่ย 277,040 บาท/ครอบครัว

ทั้งนี้ข้าราชการกลุ่มตัวอย่างมีหนี้สินเพื่อที่อยู่อาศัยสูงสุดถึง 56.3% รองลงมาคือ หนี้สินเพื่อซื้อหรือซ่อมแซมพาหนะ 16.7%, หนี้สินเพื่อใช้จายในการอุปโภคบริโภค 12.4% ขณะที่การลงทุนทำธุรกิจในครอบครัวมีหนี้สิน 6.3% โดยส่วนหนึ่งระบุถึงการนำไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่หนี้สินเพื่อใช้ในการศึกษามีเพียง 3.7% เท่านั้น

การสำรวจดังกล่าวเพื่อนำเสนอข้อมูลภาระหนี้สิน รายได้ และค่าใช้จ่ายของข้าราชการ สำหรับใช้ประโยชน์ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายของรัฐเกี่ยวกับเงินเดือนและค่าตอบแทนตลอดจนสวัสดิการต่างๆ ของข้าราชการให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเก็บรวบรมข้อมูลจากข้าราชการตัวอย่างทั้งสิ้น 12,945 ราย

สำหรับรายได้เฉลี่ยของข้าราชการกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่เดือนละ 41,139 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากเงินเดือนประจำ เงินเดือนประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษ ขณะที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 32,411 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายจากค่าอาหารและเครื่องดื่ม, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะ การเดินทาง และการสื่อสาร

เลขาธิการสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ของครอบครัวข้าราชการ ปี 2547-2551พบว่าแม้รายได้จะเพิ่มขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กล่าวคือรายได้เพิ่มจาก 29,231 บาทในปี 47 เป็น 41,139 บาท ในปี 51 และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 24,970 บาทในปี 47 เป็น 32,411 บาทในปี 51 ขณะที่หนี้สินต่อรายได้ของครอบครัวข้าราชการในระหว่าง 5 ปี พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 16.8 เท่าในปี 47 เป็น 18.2 เท่าในปี 51

"ดังนั้นรัฐบาลจึงควรหาแนวทางช่วยเหลือข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราเงินเดือน การเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆเพื่อให้ข้าราชการสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสมกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป" เลขาธิการสถิติแห่งชาติ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ