สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจประชาชนต่อแนวโน้มความเชื่อมั่น/ไม่เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ พบว่า ความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยภายหลังติดตามชมรายการในวันนี้ 82.8% ระบุมีความเชื่อมั่น ขณะที่ 11.7% ระบุไม่เชื่อมั่น
โดยประเด็นที่ชื่นชอบจากการพูดคุยในรายการประจำสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่ชอบเนื้อหาการพูดุคุยเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รองลงมา คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 2,000 บาท, มาตรการด้านการศึกษา, โครงการเบี้ยยังชีพและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ และการแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหานักเรียนตีกัน
ส่วนประเด็นที่อยากให้นายกรัฐมนตรีพูดคุยในรายการครั้งต่อไป ส่วนใหญ่ต้องการให้พูดถึงปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รองลงมาคือ ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน, ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น, มาตรการการแก้ไขปัญหาการว่างงานอย่างเป็นรูปธรรม และปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดทางการเมือง และการทุจริตคอรัปชั่น พบว่าส่วนใหญ่กว่า 80% ระบุว่าควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปให้ถึงที่สุด
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า ผลสำรวจเอแบคเรียลไทม์โพลล์ (Real-Time Survey) นี้เป็นการสำรวจแบบรวดเร็วภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง หลังการจัดรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ทั้งนี้พบว่าจำนวนผู้ที่สนใจรับชมและรับฟังรายการดังกล่าวยังมีอยู่น้อย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการใช้รายการนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก
"นายกรัฐมนตรีจึงอาจต้องหาตัวช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สลัดคราบความเป็นหนุ่มเมืองนอกลงพื้นที่พบปะรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อช่วยเสริมให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลให้มากขึ้น นอกเหนือไปจากการสื่อสารผ่านรายการดังกล่าวเพียงอย่างเดียว" นายนพดล กล่าว
การสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว มาจากประชาชนทั่วประเทศ 1,129 คน และสำรวจทันทีที่รายการดังกล่าวจบ โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างเพียง 12.3% ติดตามรับชม/รับฟังรายการในวันนี้ ขณะที่ส่วนใหญ่ 87.7% ไม่ได้ติดตาม