อีกเพียงไม่กี่วันที่สหรัฐอเมริกาจะจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการบันเทิงทั้งในระดับประเทศและระดับโลก นั่นคือ งานประกาศผลรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ หรือ ออสการ์ ครั้งที่ 81 ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการบันเทิงหรือแม้แต่ประชาชนธรรมดาอย่างเราๆ ต่างรอคอยที่จะฟังผลกันอย่างใจจดใจจ่อ และรางวัลที่สำคัญที่สุดของงานในทุกๆ ปี คงจะหนีไม่พ้น “รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม" ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้าชิงดังต่อไปนี้
The Curious Case of Benjamin Button
ภาพยนตร์แฟนตาซี-โรแมนติก-ดราม่า เรื่องนี้เป็นตัวเก็งคว้ารางวัลออสการ์ไปแบบไร้ข้อสงสัยในสายตาของใครหลายคน โดยดูง่ายๆ ได้จากการที่ภาพยนตร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากที่สุดถึง 13 สาขา และในประวัติศาสตร์กว่า 80 ปีของออสการ์ ภาพยนตร์แทบทุกเรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อเช้าชิงรางวัลมากที่สุดจะเป็นเรื่องที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปนอนกอดเช่นกัน แต่ถ้าพิจารณาลงไปให้ลึกกว่านั้น The Curious Case of Benjamin Button ยังมีคุณสมบัติอีกหลายประการที่สมควรได้รับรางวัล หรือพูดว่ามี “โหงวเฮ้ง" ถูกโฉลกและถูกใจกรรมการก็คงจะไม่ผิดนัก
เริ่มตั้งแต่เนื้อเรื่องแปลกแหวกแนวเกี่ยวกับ เบนจามิน บัตตัน ชายที่เกิดมาแล้วแก่เลย จากนั้นจึงค่อยๆ หนุ่มลงตามกาลเวลาสวนกระแสชีวิตของคนทั่วไป สภาพร่างกายที่ผิดปกติทำให้เขาต้องพยายามฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา และต้องใช้ชีวิตอย่างมีความหวังแม้จะต้องเจ็บปวด เมื่อหญิงที่เขารักแก่ตัวลงตามวัย แต่ตัวเขาเองกลับหนุ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเนื้อเรื่องแนวรักผสมปรัชญาชีวิตและการต่อสู้ดิ้นรนของตัวเอกที่มีความบกพร่องแบบนี้เป็นที่โปรดปรานของผู้ชมและกรรมการมานานแล้ว (ดูได้จาก Rain Man ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปเมื่อปี 1988 , Forrest Gump ปี 1994 และ A Beautiful Mind ปี 2001) นอกจากนั้นการนำเสนอภาพที่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษเกือบทั้งเรื่องตามแบบฮอลลีวู้ดยุคใหม่ กับการเล่าเรื่องที่เน้นความรู้สึกของคาแรคเตอร์ในแบบที่ฮอลลีวู้ดยุคเก่านิยม ยังผสมผสานกันได้อย่างสอดคล้องและลงตัว
นอกจาก แบรด พิทท์ และ เคท แบลนเช็ต สองดารานำระดับแม่เหล็กซึ่งเป็นหน้าเป็นตาของหนังแล้ว The Curious Case of Benjamin Button ยังมีรายละเอียดอีกยิบย่อยที่ทำให้หนังออกมาดูดี ทั้งการกำกับศิลป์ ถ่ายภาพ ตัดต่อภาพ เสียงประกอบ ดนตรีประกอบ แต่งหน้า และเครื่องแต่งกาย และเมื่อนำองค์ประกอบทั้งหมดมารวมกันก็ทำให้ The Curious Case of Benjamin Button กลายเป็นภาพยนตร์ตัวเก็งรางวัลออสการ์ในใจของใครหลายคนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และอาจทำให้ เดวิด ฟินเชอร์ คว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครองด้วยเช่นกัน
Frost/Nixon
ผู้เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ดูจะเป็น “ม้านอกสายตา" สำหรับผู้ชมภาพยนตร์ส่วนมาก (แต่อาจถูกใจกรรมการหลายคน) เนื่องจากเป็นหนังที่ดูยากและเอาใจคนดูเฉพาะกลุ่ม ด้วยเนื้อเรื่องที่ดัดแปลงจากละครเวทีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์หนักอึ้งและวนเวียนอยู่ที่ตัวละครหลักเพียง 2 ตัว นั่นคือ พิธีกรทอล์คโชว์อังกฤษ เดวิด ฟรอสท์ กับอดีตประธานาธิบดีจอมฉาวของอเมริกาอย่าง ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งต่างต้องใช้คารมห้ำหั่นอีกฝ่ายเพื่อความสำเร็จของตัวเอง
สามปีหลังจากที่ นิกสัน ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีจากคดีวอเตอร์เกต เขาตัดสินใจให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำงานในทำเนียบขาว ซึ่งรวมถึงคดีอื้อฉาวที่เกิดขึ้น โดย นิกสัน เลือกให้ ฟรอสท์ เป็นผู้สัมภาษณ์เขา ด้วยหลงคิดว่าตัวเองมีไหวพริบเหนือ ฟรอสท์ ซึ่งเป็นพิธีกรที่ดูไม่มีพิษมีภัยอะไร และเขาจะได้ฉวยโอกาสนี้เอาชนะใจชาวอเมริกันอีกครั้ง แต่ นิกสัน หารู้ไม่ว่าความทะเยอทะยานของ ฟรอสท์ ที่ต้องการสร้างชื่อในวงการโทรทัศน์ จะเป็นแรงผลักดันให้เขาทำสิ่งที่ใครก็คาดไม่ถึงได้
หลายคนเชื่อว่าหากภาพยนตร์เรื่องนี้มีโอกาสคว้ารางวัลจริง รางวัลที่ดีที่สุดก็คงเป็นเพียงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากฝีมือของ แฟรงก์ แลงเกล่า ผู้รับบทประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในโลกมายา ดังนั้นเราคงต้องดูต่อไปว่า Frost/Nixon จะคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครองอย่างที่ Chicago หนังดัดแปลงจากละครบรอดเวย์อีกเรื่องเคยทำไว้เมื่อปี 2002 ได้หรือไม่
Milk
ภาพยนตร์สร้างจากชีวิตจริงเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรนของคนธรรมดาที่ต้องการหลุดพ้นจากกรอบความอยุติธรรมของสังคมก็เป็นอีกแนวที่ถูกใจกรรมการมิใช่น้อย โดย Milk เป็นเรื่องราวของ ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ชายรักร่วมเพศที่ตัดสินใจกระโดดลงสู่สนามการเมืองเพื่อรักษาสิทธิและปกป้องผู้คนที่มีรสนิยมทางเพศเช่นเดียวกับเขา เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักการเมืองคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่กล้าเปิดเผยว่าตัวเองเป็นรักร่วมเพศ และเป็นแม่แบบของคนหัวก้าวหน้าในยุคทศวรรษ 1970 ที่กล้าต่อสู้เพื่อคนไร้สิทธิ์ไร้เสียงในสังคม ไม่ใช่เพื่อกลุ่มรักร่วมเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนชราและคนผิวสีด้วย
เป็นที่รู้กันว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับรักร่วมเพศมักได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากฮอลลีวู้ด (เนื่องจากในวงการก็มีดาราจำนวนไม่น้อยที่เป็น) ดูได้จากหนังชีวิตที่ต้องหลบซ่อนความรักของรักร่วมเพศยุคคาวบอยอย่าง Brokeback Mountain เมื่อปี 2005 ที่ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หรือหากจะย้อนไปไกลกว่านั้นก็ต้องเป็นเรื่อง Philadelphia ในปี 1993 ซึ่งส่งผลให้ ทอม แฮงค์ ผู้รับบทเป็นชายรักชายที่ติดเชื้อเอชไอวี คว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายเป็นตัวแรกในชีวิตไปครอง
เมื่อปี 1982 ก็มีภาพยนตร์ที่ให้อารมณ์คล้ายคลึงกันเรื่องหนึ่งที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นั่นคือ Gandhi แม้สเกลของหนังจะไม่เท่ากัน แต่ทั้งสองเรื่องก็มีความคล้ายคลึงกันในด้านอารมณ์ มหาตมะ คานธี ใช้วิธีอหิงสาเพื่อให้อินเดียหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมและการกดขี่ของอังกฤษ ส่วน ฮาร์วี่ย์ มิลค์ พยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่มรักร่วมเพศที่ถูกสังคมรังเกียจและข่มเหง และจุดจบของทั้งคู่ที่ดูจะไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งไม่แน่ว่าจุดร่วมของหนังที่มักสร้างความประทับใจ (แบบเศร้าๆ) ให้กับผู้ชม อาจเป็นแรงหนุนให้ Milk ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทบาทที่ตราตรึงใจอาจผลักดันให้ ณอน เพนน์ ผู้รับบท ฮาร์วี มิลค์ และเจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง Mystic River ในปี 2003 ได้รับรางวัลดังกล่าวอีกครั้ง
The Reader
ณ ประเทศเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กหนุ่มอายุ 16 ปี กับหญิงสาวอายุ 26 ปี ฝ่ายหญิงซึ่งเป็นพนักงานตรวจตั๋วบนรถรางได้เข้าไปช่วยเหลือฝ่ายชายที่ป่วยและพาไปส่งที่บ้าน ภายหลังทั้งคู่ได้สานสัมพันธ์กันอย่างลับๆ เด็กหนุ่มที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นมีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ ขณะที่หญิงสาวซึ่งอ่านหนังสือไม่ออกก็กระหายใคร่รู้เรื่องราวจากหนังสือที่เด็กหนุ่มอ่านให้ฟัง ทั้งสองจึงแลกเปลี่ยนความปรารถนาระหว่างกันอย่างลับๆ จนกระทั่งก่อเกิดเป็นความรักอย่างรวดเร็ว แต่วันหนึ่งเมื่อความรักสุกงอมเต็มที่ ฝ่ายหญิงก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งให้หนุ่มน้อยจมอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์แทบหัวใจสลาย
แปดปีให้หลัง เด็กหนุ่มกลายเป็นหนุ่มนักศึกษาวิชากฎหมาย ระหว่างเข้าฟังการพิพากษาคดีอาชญากรสงครามของพรรคนาซี เขาต้องตกตะลึงเมื่อได้เจอเธออีกครั้ง แต่ในฐานะจำเลยของคดี และความลับในอดีตของเธอกำลังจะถูกเปิดเผยออกมา
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 1996 เจ้าของรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่าง The English Patient ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังแนวเดียวกันกับ The Reader ตัวละครของทั้งสองเรื่องถูกขับเคลื่อนด้วยความรักแบบ “ต้องห้าม" โดยมีสงครามเป็นฉากหลัง และ เรล์ฟ ไฟน์ส ก็รับบทเป็นชายที่มีรักลับๆ ทั้งสองเรื่อง (เรื่องแรกแอบเป็นชายชู้ เรื่องหลังเป็นชายที่ในอดีตเคยมีสัมพันธ์ลับกับหญิงที่ต่างวัยกันมาก) แม้ความสัมพันธ์แบบผิดศีลธรรมจะเป็นสิ่งที่โดดเด่นในทั้งสองเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่ “แก่น" เพราะหนังต้องการเสนอความซับซ้อนและละเอียดอ่อนของจิตใจมนุษย์มากกว่า ทำให้หนังทั้งสองเรื่องออกมาในแนวสุขุมนุ่มลึกและเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกประทับใจมากกว่าความรู้สึกน่ารังเกียจ และความรู้สึก “ต้องห้าม" กลายเป็นสิ่งที่ทำให้หนังมีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด
ก่อนหน้านี้ เคต วินสเลต เจ้าของบทวัวแก่กินหญ้าอ่อนใน The Reader เพิ่งคว้ารางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่องนี้มาครอง ซึ่งฝีมือของเธอแน่ถึงขั้นที่ทางค่ายเจ้าของหนังตัดสินใจเสนอชื่อเธอเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงจาก Revoluationary Road และนักแสดงสมทบหญิงจาก The Reader ทั้งที่บทของเธอคือบทนำทั้งคู่ ที่ทำเช่นนี้เพื่อให้เธอสามารถเข้าชิงได้ทั้ง 2 สาขาพร้อมกัน และเธอก็สามารถคว้ามาได้ทั้ง 2 รางวัลตามความคาดหมาย ดังนั้น รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมก็เป็นอีกรางวัลที่ The Reader สามารถตั้งความหวังไว้ได้ในออสการ์ครั้งนี้
Slumdog Millionaire
ในระยะหลังมีหนังฟอร์มเล็กหลายเรื่องที่สามารถฝ่าค่ายอรหันต์เข้ามาชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมร่วมกับหนังฟอร์มยักษ์ได้อย่างไม่น้อยหน้า อย่างหนังน่ารักแต่เนื้อหาเข้มข้นอย่าง Little Miss Sunshine ในปี 2006 และหนังเกี่ยวกับวัยรุ่นที่ป่องก่อนแต่งอย่าง Juno ในปี 2007 ทำให้ทั้งผู้ชมและคณะกรรมการคาดหวังว่าในปีนี้ต้องมีหนังเล็กๆ สักเรื่องมาเป็นตัวเลือก และ Slumdog Millionaire ก็คือหนังเรื่องนั้น
จามาล เด็กหนุ่มกำพร้าวัย 18 ปี จากสลัมในมุมไบ เข้าร่วมแข่งขันเกมโชว์ Who Wants To Be A Millionaire (หรือเกมเศรษฐีบ้านเรา) และเหลืออีกเพียงคำถามเดียวเขาก็จะได้รับรางวัลก้อนโตสูงถึง 20 ล้านรูปี แต่ในช่วงพักการถ่ายทำ ตำรวจกลับควบคุมตัวเขาพร้อมยัดเยียดข้อหาว่าเขาโกงการแข่งขัน เพราะไม่มีทางที่เด็กยากจนไร้การศึกษาจะฉลาดขนาดนี้ แต่จามาลบอกว่าเขาไม่ได้ฉลาด เขาเพียงแต่บังเอิญ “รู้" คำตอบของคำถามเท่านั้น จากนั้นเขาจึงเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองให้ตำรวจฟัง ซึ่งแต่ละบทแต่ละตอนของเรื่องที่เขาเล่าจะเปิดเผยว่าเขารู้คำตอบของโจทย์แต่ละข้อในเกมโชว์ได้อย่างไร และทุกคนจะได้คำตอบว่าอะไรที่ผลักดันให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งมายืนอยู่ในรายการที่มีเงินรางวัลมหาศาล ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้หวังแก้วแหวนเงินทองอะไรเลย
แม้จะออกตัวว่าเป็นหนังเล็กๆ แต่เอาเข้าจริงแล้วหนังเรื่องนี้ไม่ “เล็ก" เลย หนังสะท้อนเศษเสี้ยวของความเสื่อมโทรมของสังคมอินเดียออกมาได้อย่างถึงแก่นแต่งดงาม การตัดสลับฉากระหว่างเรื่องราวในวัยเด็กกับช่วงเวลาปัจจุบันก็ทำได้อย่างกลมกลืนและน่าติดตาม ดนตรีและเพลงประกอบก็เข้ากับอารมณ์ของเรื่องได้อย่างดี ความเรียบง่ายแต่สุดยอดแทบทุกด้านส่งผลให้ Slumdog Millionaire ขึ้นไปผงาดบนเวทีลูกโลกทองคำด้วยการกวาดรางวัลสำคัญๆ มาแทบทั้งหมด ทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่า, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (แดนนี่ บอยล์)
อย่างไรก็ตาม รางวัลลูกโลกทองคำไม่ใช่เครื่องการันตีรางวัลออสการ์ ดังนั้นภาพยนตร์ฟอร์มเล็กแต่ (ได้) ใจใหญ่อย่าง Slumdog Millionaire จะสามารถประกาศศักดาอย่างยิ่งใหญ่บนเวทีออสการ์ เหมือนที่ทำมาแล้วบนเวทีลูกโลกทองคำได้หรือไม่ คงต้องลุ้นกันต่อไป
*สรุป
The Curious Case of Benjamin Button ชิง 13 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, เสียงประกอบยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม, แต่งหน้ายอดเยี่ยม และ เอฟเฟกต์ภาพยอดเยี่ยม
Slumdog Millionaire ชิง 10 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, เสียงประกอบยอดเยี่ยม, ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยม 2 เพลง และ ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม
Milk ชิง 8 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และ ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม
Frost/Nixon ชิง 5 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และ ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม
The Reader ชิง 5 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม
สุดท้ายแล้วภาพยนตร์เรื่องใดจะคว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ไป จะมีการพลิกโผเกิดขึ้นหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ ส่วนผู้ชมอย่างเราคงได้แต่ลุ้นว่าภาพยนตร์ในดวงใจจะได้ “กล่อง" ไปครองหรือไม่ ในการประกาศผลรางวัลออสการ์ประจำปี 2009 ในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์นี้