นางสุวรรณี คงมั่น รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทรุดตัวทำให้ปัญหาการว่างงานในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในปี 52 โดยคาดว่าจะมีอัตราการว่างงาน 2.5-3.5% หรือมีผู้ว่างงานประมาณ 9 แสน-1.3 ล้านคน
ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์สิทธิและขั้นตอนการเข้าถึงสวัสดิการของแรงงานให้ชัดเจนทั่วถึงและโปร่งใส โดยเฉพาะตลาดนัดแรงงานให้การกระจายไปทั่วประเทศ ทั้งระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านควบคู่ไปกับส่วนกลาง และเป็นการเพิ่มศักยภาพให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย
"แม้สภาพัฒน์จะคาดการณ์จีดีพีในปี 52 ไว้ที่ -1 ถึง 0% แต่จะแปรผันไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการว่างงานหรือไม่นั้น เห็นว่าหากทุกภาคส่วนลดรายจ่าย ปรับเข้าสู่การใช้จ่ายที่พอประมาณหรือน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาใช้อย่างจริงจัง เราก็จะสามารถปรับตัวและต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการว่างงานในขณะนี้ได้" รองเลขาธิการ สศช.ระบุ
นางสุวรรณี กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ของรัฐบาล ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ 6 โครงการ ในไตรมาส 4/52 นั้น เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ขณะที่การจ้างงานของภาครัฐที่นำมาเสริมกว่า 1 แสนตำแหน่งก็จะพยายามจับคู่กันระหว่างผู้ว่างงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการคืนครูให้กับนักเรียน จำนวน 14,000 อัตรา หรือโครงการศึกษาทรัพยากรธรรมชาติ ที่ทำร่วมสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 53 เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีหน่วยงานในทุกจังหวัดที่พร้อมจะตั้งหน่วยฝึกอบรมตามโครงการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ว่างงานในทุกแขนงที่ต้องการกลับภูมิลำเนา นักศึกษาจบใหม่ ฯลฯ กว่า 24,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมีข้อมูลว่าภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนังในภาคอีสานต้องการแรงงานที่มีฝีมือมากกว่า 20,000 ตำแหน่ง ขณะที่พบว่าแรงงานที่ถูกส่งกลับจากต่างประเทศมีเพียง 100 อัตราเท่านั้น
รองเลขาธิการ สศช. กล่าวถึงภาวะสังคมในไตรมาส 4/51 ว่า มีผู้ว่างงาน 5.1 แสนคน ผู้ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจาก 29,915 คน ในปี 50 เป็น 55,549 คน ในปี 51 โดยตั้งแต่ต้นปี -20 ก.พ.52 มีผู้ถูกเลิกจ้างแล้ว 17,474 คนคิดเป็นร้อยละ 31.5 ของผู้เลิกจ้างปี 51
ผลการสำรวจแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 2,002 คน พบว่า เป็นหญิงมากกว่าชายในสัดส่วน 6:4 โดย 66% อายุระหว่าง 21-30 ปี ส่วนใหญ่ 45.3% มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา, โดย 67.2% มีรายได้ระหว่าง 5,000 -15,000 บาท/เดือน อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต 73.6% ขณะที่ 42.5% ต้องการกลับภูมิลำเนา และอีกกว่า 50% ต้องการอาชีพใหม่ในท้องถิ่นซึ่งหนึ่งในนั้นคืออาชีพเกษตรกรรม
ขณะเดียวกันพบว่า ลูกจ้างชั่วคราวและรายวันถึง 49.6% ถูกบีบให้ลาออก ทำให้ไม่สามารถรับค่าชดเชยตามกฎหมาย โดย78.8% ยังอยู่ในช่วงที่กำลังขอรับค่าทดแทนการว่างงาน
"รายได้ของผู้ถูกเลิกจ้างลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะครอบครัวผู้ที่มีรายได้มากกว่า 15,000 บาท/เดือน รายได้ลดลงเหลือร้อยละ 20 ต่อครอบครัว ขณะที่ครอบครัวที่ไม่มีรายต่อเดือนได้มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ทั้งนี้เกิดจากปัญหารายได้น้อยกว่ารายจ่าย มีความเครียดกับตัวเองและครอบครัว โดยเฉพาะพ่อ-แม่ที่จะต้องดูแลบุตร สามีและภรรยาเป็นอันดันแรก" นางสุวรรณี กล่าว