SWINE FLU:รมว.เกษตรฯ ยันไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสุกรในไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday April 28, 2009 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยืนยันยังไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสุกรที่เลี้ยงในประเทศไทย โดยสั่งการให้กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

"จากการเฝ้าระวังโรคที่ผ่านมา ยังไม่พบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่(H1N1) ในสุกรในประเทศไทย" นายธีระ วงศ์สมุทร รมวเกษตรและสหกรณ์ ระบุในเอกสารเผยแพร่ของกรมปศุสัตว์

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไข้หวัดสุกรมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยเก็บตัวอย่างเลือดและตัวอย่างป้ายจมูกในสุกรแม่พันธุ์ สุกรขุน และลูกสุกร นำมาทดสอบโดยวิธีฉีดไข่ฟักและ PCR

"จากการศึกษาวิจัยและสำรวจโรคพบเชื้อไวรัสไข้หวัดสุกร ซึ่งส่วนใหญ่พบในแม่สุกร แต่ไม่พบว่าสัตว์แสดงอาการป่วยรุนแรง อีกทั้งเชื้อไวรัสที่พบมีความแตกต่างจากเชื้อที่แพร่ระบาดในคนที่ประเทศเม็กซิโก" เอกสารเผยแพร่ฯ ระบุ

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดโรคดังกล่าว ให้เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาการระบาดดังกล่าว และแจ้งหน่วยงานทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำแก่ผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนทั่วไปในการป้องกันโรคไวรัสนี้

พร้อมแจ้งสมาคม ชมรมผู้เลี้ยงสุกร ให้เฝ้าระวังโดยสังเกตความผิดปกติของสุกร หากพบสุกรมีอาการไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร มีน้ำมูก สงสัยเป็นโรคไข้หวัดสุกร ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในการป้องกันโรคต่อไป

นอกจากนี้ให้ประสานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง การป้องกันโรคในคนร่วมกัน โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิด

ด้านนายทฤษดี ชาวสวนเจริญ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันการแพร่เชื้อโรคดังกล่าวเกิดขึ้นจากคนสู่คนเท่านั้น ยังไม่พบการแพร่เชื้อจากหมูไปสู่คน ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดโอกาสเชื้อโรคกลายพันธุ์จึงขอให้เกษตรกรงดเลี้ยงสัตว์ปีกอยู่ในบริเวณเดียวกับหมู, ห้ามผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจเข้าไปในบริเวณคอกเลี้ยงสุกร ตลอดจนดูแลรักษาคอกเลี้ยงให้มีระบบสุขาภิบาลที่ดี

""เนื่องจากสารพันธุกรรมเป็นชนิด RNA และมี 8 ท่อน จึงมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ และการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มาจากมนุษย์ สัตว์ปีก รวมทั้งสุกรได้ง่าย" เอกสารเผยแพร่ฯ ระบุ

ทั้งนี้ สุกรมีตัวรับเชื้อโรคบนผิวเซลล์เช่นเดียวกับคนและสัตว์ปีกจึงสามารถติดไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนและสัตว์ปีกได้ ทำให้มีโอกาสเกิดการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกรได้สูง

"เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกรที่พบส่วนใหญ่เป็นชนิด H1N1 และ H3N2 แต่เริ่มมีรายงานการตรวจพบ H1N2 subtype ในประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะพบการระบาดแทนสายพันธุ์ H1N1 และ H3N2" รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ