WWF ชี้แหล่งปะการังสำคัญของโลกเสี่ยงสูญพันธุ์จากภาวะโลกร้อน หวั่นกระทบแหล่งอาหารเร่งหาทางแก้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 13, 2009 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ชี้แหล่งปะการังที่สำคัญที่สุดของโลกอาจจะสูญหายไปจากแผนที่โลก หากทุกฝ่ายไม่ลงมือแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วน แหล่งปะการังที่สำคัญจนเปรียบเสมือนป่าอเมซอนใต้ท้องทะเล ซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่ง ปะการัง และท้องทะเลในประเทศอินโดนีเซีย ติมอร์ตะวันออก มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ปาปัว นิวกินี และหมูเกาะโซโลมอน หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า สามเหลี่ยมปะการัง (Coral Triangle) นั้น เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของประชากรกว่า 100 ล้านคน

WWF ระบุในรายงานชิ้นล่าสุดว่า ปะการังในบริเวณสามเหลี่ยมปะการัง 40% นั้นสูญหายไปแล้ว ทั้งที่แนวปะการังในบริเวณสามเหลี่ยมปะการังนี้มีปะการังสายพันธุ์ต่างๆอยู่ถึง 75% ของสายพันธุ์ปะการังทั่วโลก อีกทั้งยังขึ้นชื่อในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพจนถูกเปรียบเทียบว่าเป็นเสมือนป่าอเมซอนแห่งท้องทะเล หากแนวปะการังในย่าน Coral Triangle ถูกทำลายไป ความสามารถในการผลิตอาหารป้อนมนุษย์จากบริเวณดังกล่าวจะหดหายลงไปถึง 80%

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ในอีก 90 ปีข้างหน้า ประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายร้อยล้านคนจะต้องตะเกียกตะกายหาแหล่งอาหาร ปลาที่เคยหาได้ในท้องทะเลก็จะหดหายไป ชุมชนก็จะอยู่ไม่ได้ เศรษฐกิจก็จะย่อยยับ หากแหล่งปะการังที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในโลกต้องสูญหายไป ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดหายนะดังกล่าว ทั่วโลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และควบคุมการประมง และดูแลพื้นที่ชายฝั่งให้ดีกว่าเดิม

ศาสตราจารย์โอฟ โฮก-กุลด์เบิร์ก กล่าวว่า มลพิษ การใช้พื้นที่ชายฝั่งที่ไม่เหมาะสม กำลังเป็นปัจจัยที่ทำลายความสามารถในการผลิตอาหารของท้องมหาสมุทร เช่นเดียวกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น สภาพความเป็นกรด และระดับน้ำทะเล ดังนั้นเมื่อมีความยากจนเพิ่มมากขึ้น เสถียรภาพด้านแหล่งอาหารลดลง เศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ประชาชนที่เคยอาศัยอยู่ตามชายฝั่งก็จะอพยพโยกย้ายมาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น เนื่องจากอาหารตามแหล่งทรัพยากรและรายได้สูญหายไป ส่งให้เมืองใหญ่ต้องแบกรับภาระเหล่านี้ดังที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

เจมส์ ลีพ ผู้อำนวยการระหว่างประเทศของ WWF กล่าวว่า ผู้ประเทศต่างๆทั่วโลกจะต้องให้การสนับสนุนประเทศที่มีอาณาบริเวณอยู่ใน Coral Triangle เพื่อปกป้องชุมชนที่มีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การสูญเสียแหล่งอาหาร และชีวิตความเป็นอยู่ ด้วยการให้ความช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ในการบริหารแหล่งทรัพยากรทางทะเลมากขึ้น รวมทั้งปฏิบัติตามข้อตกลงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีการนำพูดคุยกันในการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติที่จัดขึ้นที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กเดือนธ.ค.นี้ เพื่อหารือเรื่องกลไกด้านสภาพภูมิอากาศชุดใหม่เพื่อนำมาใช้แทนที่สนธิสัญญาเกียวโต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ